
Happinometer เครื่องมือวัดความสุขได้ง่าย ๆ ด้วยตัวคุณเอง
- 24/01/23
หลายครั้งเวลาที่คนทำงานต่างทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับงานตรงหน้า ก็อาจทำให้พวกเขาเกิดความกดดัน ความวิตกกังวล ความเครียด โดยภาวะอารมณ์เหล่านี้เป็นภาวะที่คนทำงานบางคนอาจไม่รู้ตัวว่าความสุขนั้นกำลังค่อย ๆ จางหายไป
เพราะหลายครั้งที่เรามักหลงลืมความสุข ทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้สร้างเครื่องมือชิ้นหนึ่ง นั่นก็คือแบบประเมินความสุข หรือ Happinometer ขึ้น เพื่อให้องค์กรต่าง ๆ นำไปใช้ประเมินความสุขของพนักงาน เพราะอารมณ์มีผลต่อสภาพร่างกายเป็นอย่างมาก ถ้าเราไม่มีความสุข ร่างกายก็อาจจะย่ำแย่ตามไปด้วย แต่ถ้าคนเรามีความสุข ร่างกายก็จะแข็งแรง แจ่มใส และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
เพราะความสุขช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวข้องประสิทธิภาพการทำงานของเราอย่างไร ให้ลองนึกถึงวันที่เราอกหัก รู้สึกไม่มีความสุข วันนั้นเราอาจจะรู้สึกไม่มีแรงจะทำอะไร ไม่มีใจอยากจะทำงาน หรือแม้กระทั่งไม่อยากออกจากบ้านด้วยซ้ำ ซึ่งการต้องทำงาน กลายเป็นการต้องบังคับและเข็นตัวเองให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ ดังนั้นการทำงานจึงเป็นเพียงการทำให้จบ ๆ ไป ในทางกลับกันหากวันนั้นเรามีความสุข ตื่นมาด้วยความสดใส เราก็พร้อมจะทำงานด้วยความมั่นใจ และมีไอเดียใหม่ ๆ มีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงขึ้น รู้สึกว่างานเป็นเรื่องสนุก
นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความรู้สึกลอย ๆ เพราะมีงานวิจัยจากออกฟอร์ดที่ออกมาบอกว่าคนทำงานที่มีความสุขจะมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มสูงขึ้น 13% ความสุขจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการทำงาน และยังทำให้คนทำงานและองค์กรเต็มไปด้วยอารมณ์บวก ที่ส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ในองค์กรเต็มไปด้วยความเป็นมิตร และเกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการทำงาน
ดังนั้นการติดตามและประเมินความสุขของคนในองค์กรจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อดูแลพนักงานอย่างเอาใจใส่และช่วยให้พวกเขาพบกับความสุขในที่ทำงานไปพร้อม ๆ กัน
ความสุขและความพึงพอใจในชีวิตที่เช็กได้จากทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการมาสโลว์
หากจะทำความเข้าใจความสุขพื้นฐาน เราอาจมองว่าความสุขคือความพึงพอใจที่เกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งมีทฤษฎีสำคัญที่จะมาช่วยขยายความได้มากขึ้น นั่นก็คือ ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการมาสโลว์ ซึ่งเป็นทฤษฎีจิตวิทยาที่คิดค้นโดย อับราฮัม เอช. มาสโลว์ โดยเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1943 ที่เชื่อว่าการเข้าถึงความต้องการในแต่ละขั้นส่งผลให้เรามีความสุขหรือพึงพอใจได้ ระดับขั้นทั้ง 5 นั้นได้แก่
1. ความต้องการทางด้านร่างกาย (Physiological Needs) เช่น การเข้าถึงปัจจัยสี่ เมื่อหิวก็ได้กิน เมื่อเจ็บป่วยก็เข้าถึงการรักษาได้ มีเงินหล่อเลี้ยงชีวิต มีเสื้อผ้าสวมใส่
2. ความต้องการความปลอดภัย (Safety Needs) เช่น ความปลอดภัยในการชีวิต ความปลอดภัยจากการถูกคุกคามทางเพศ การมีงานที่มั่นคง การมีเงินเก็บออม
3. ความต้องการทางสังคม (Social Needs) เช่น การมีเพื่อน การมีคนรัก การเข้ากลุ่มทางสังคมที่มีความเข้าใจกัน
4. ความเคารพนับถือ (Esteem Needs) เช่น ชื่อเสียง การเป็นที่ยอมรับในสังคม การเติบโตในหน้าที่การงาน
5. ความสมบูรณ์ในชีวิต (Self-Actualization Needs) เช่น การค้นพบความหมายของชีวิต การค้นพบคุณค่าในตัวเอง
ซึ่งหากองค์กรสามารถตระหนักได้ว่าพนักงานแต่ละคนเผชิญอยู่ในลำดับขั้นไหน จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจในตัวพนักงาน และออกแบบนโยบายที่เหมาะสมให้กับพวกเขาเพื่อสร้างความสุขให้พนักงานได้
อะไรคือ Happinometer หรือแบบประเมินความสุข
จากที่เกริ่นไปข้างต้น จึงเป็นที่มาของการชวนมาทำความรู้จัก Happinometer ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดความสุขที่คนทั่วไปสามารถวัดได้ด้วยตัวเอง เหมือนกับที่ยามป่วยเราสามารถนำปรอทมาวัดระดับไข้ได้ โดย Happinometer จะช่วยวัดความรู้สึกและประสบการณ์ที่สะท้อนจากมิติคุณภาพชีวิตของแต่ละคน ซึ่ง Happinometer จะช่วยให้ทราบค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขของแต่ละคน และช่วยให้องค์กรสามารถนำไปประเมิน ออกแบบองค์กรให้สอดรับกับความสุขของพนักงานได้
ความสุข 9 มิติ ตัวชี้วัดสำคัญของ Happinometer
ความสุขที่ Happinometer จะวัดนั้นเป็นการขยายความจากทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการมาสโลว์ในแบบละเอียดขึ้น โดยจะแบ่งเป็น 9 มิติ ได้แก่
1. Happy Body (สุขภาพดี) หมายถึง การที่คนในองค์กรมีร่างกายแข็งแรง สมส่วน มีพฤติกรรมการบริโภคที่ดีและพึงพอใจสภาวะสุขภาพกายของตนเอง
2. Happy Relax (ผ่อนคลายดี) หมายถึง การที่คนในองค์กรสามารถจัดสรรเวลาให้ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ เป็นความพึงพอใจที่ได้ออกแบบชีวิตด้วยตัวเอง ได้ทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ
3. Happy Heart (น้ำใจดี) หมายถึง การที่คนในองค์กรได้รู้สึกช่วยเหลือ หรือทำประโยชน์ให้ส่วนรวม มีความพึงพอใจในการสนับสนุน ให้กำลังใจเพื่อนพี่น้อง คนรู้จัก มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
4. Happy Soul (จิตวิญญาณดี) หมายถึง การที่คนในองค์กรมีคุณธรรม ศีลธรรม เข้าใจสิ่งที่ถูกและผิด รู้จักการให้อภัย และมีจิตใจที่ไม่อาฆาตมาดร้าย
5. Happy Family (ครอบครัวดี) หมายถึง การที่คนในองค์กรมีความพึงพอใจในครอบครัวที่อยู่ร่วมกัน มีความเชื่อมั่นและเข้าใจครอบครัว มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ทั้งกับพ่อแม่ ญาติ ๆ หรือสามีภรรยา และลูก
6. Happy Society (สังคมดี) หมายถึง การที่คนในองค์กรมีความสัมพันธ์อันดีกับคนในสังคม สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมโดยไม่ก่อความเดือดร้อนร้ายแรงได้ ไม่เอารัดเอาเปรียบ และเห็นประโยชน์ของคนในสังคมเป็นสำคัญ
7. Happy Brain (ใฝ่รู้ดี) หมายถึง การที่คนในองค์กรมีความพึงพอใจและใคร่เรียนรู้ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และเข้าใจโลกที่เปลี่ยนผ่านไปเรื่อย ๆ ได้เป็นอย่างดี ปรับตัวได้ทันเหตุการณ์
8. Happy Money (สุขภาพเงินดี) หมายถึง การที่คนในองค์กรมีความพึงพอใจด้านการเงิน มีค่าใช้จ่ายที่สมดุล รวมไปถึงมีการทำบัญชีเพื่อบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี
9. Happy work-life (การงานดี) หมายถึง การที่คนในองค์กรมีความรู้สึกรักและสนุกในงานที่ได้รับมอบหมาย มีความมั่นใจในอาชีพและรายได้ที่ได้รับ เห็นคุณค่าของตนเองในการทำงาน และเห็นการเติบโตของตัวเองในองค์กร
ประโยชน์ของการใช้ Happinometer
– ได้เช็กความสุขของตนเอง เท่าทันความรู้สึกของตนเอง
– ได้ทบทวนประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับชีวิต
– องค์กรได้รับรู้ชีวิตและความรู้สึกของคนในองค์กร
– ผู้บริหารสามารถนำผลการประเมินมาวางแผน ออกนโยบายที่ช่วยส่งเสริมให้คนทำงานมีความสุขได้
ไปลองเช็กความสุขด้วย Happinometer กัน
สำหรับองค์กรหรือบุคคลทั่วไปสามารถวัดประเมินความสุขของตัวเองได้ โดยมีทั้งแบบดาวน์โหลดปริ้นต์ออกมาเพื่อทำลงบนกระดาษ ซึ่งอาจเหมาะกับผู้สูงวัย หรือจะทำบนเว็บไซต์ออนไลน์ก็ได้เช่นกัน โดยสำหรับคนที่สนใจลองทำผ่านเว็บไซต์ออนไลน์สามารถดูตามขั้นตอนได้ดังนี้
1. เข้าลิงก์นี้ https://happy.moph.go.th/happinometer
2. ลงทะเบียนโดยกรอกข้อมูลส่วนตัวเบื้องต้น
3. อ่านคำชี้แจงแบบประเมินความสุขด้วยตนเอง (Happinometer) โดยมีข้อตกลงเบื้องต้นก็คือ
– ความสุขของบุคคลเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่ง Happinometer เหมาะกับการวัดความสุขระยะสั้น (รายครึ่งปี)
– Happinometer เป็นการประเมินประสบการณ์ด้านอารมณ์ และระดับความพึงพอใจในชีวิตโดยรวมทั้งทางบวกและลบ
– Happinometer เป็นเครื่องมือวัดความสุขระดับบุคคล โดยเน้นไปที่คนทำงานเป็นหลัก จึงเหมาะกับองค์กรที่ต้องการประเมินความสุขของพนักงาน
– Happinometer สามารถให้ภาพรวมสะท้อนเป็นความสุขขององค์กรได้
– Happinometer เป็นการวัดระดับความสุขโดยประเมินจากองค์ประกอบคุณภาพชีวิตและความสุข 9 มิติ โดยผู้ทำแบบประเมินต้องตอบตามความรู้สึกที่ใกล้เคียงความรู้สึกของตนเองมากที่สุด มีความซื่อสัตย์ในการตอบ เพื่อให้ผลที่ใกล้เคียงที่สุด
4. เริ่มทำแบบทดสอบ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคล จำนวน 14 ข้อ และแบบประเมินความสุขด้วยตนเอง (Happinometer) จำนวน 69 ข้อ โดยให้เลือกคำตอบที่เป็นจริงที่สุด โดยสามารถย้อนกลับมาทำข้อที่ไม่มั่นใจได้
5. เมื่อตอบคำถามจนครบ ให้คลิกบันทึกข้อมูล
6. ระบบจะประมวลผลและแสดงผลการประเมินความสุขออกมาเป็น 9 มิติ และความสุขโดยรวม
สรุป
การเท่าทันความรู้สึกเป็นเรื่องสำคัญของคนทำงาน ซึ่งแต่ละองค์กรอาจต้องเริ่มใส่ใจสุขภาพจิตของคนในองค์กรมากขึ้น เข้าใจภาวะอารมณ์อันหลากหลายของคนในองค์กร และประเมินวัดผลสภาวะอารมณ์เพื่อดูแลและออกแบบองค์กรให้เหมาะสมกับคนทำงาน เพราะคนทำงานคือทรัพยากรทรงคุณค่าที่ต้องรักษาไว้ให้ดี ซึ่ง Happinometer อาจเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้องค์กรสามารถประเมินสุขภาพจิตของคนทำงานได้ว่าพวกเขากำลังรู้สึกหรือเผชิญปัญหาใดอยู่
และนอกจาก Happinometer บางองค์กรอาจลองเลือกใช้แอปพลิเคชันที่ช่วยติดตามความสุขของพนักงานได้ เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิด เช่นในแอปพลิเคชัน SAKID ที่มีฟังก์ชันปฏิทินความสุข คอยติดตามความรู้สึกในแต่ละวันของคนในองค์กร ซึ่งจะช่วยให้สามารถวางแผนและออกแบบนโยบายที่เป็นประโยชน์กับการทำงานได้ และส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
เพราะความสุขคือสิ่งดี ๆ ที่ผู้คนสามารถมอบให้กันได้เสมอ
บทความที่น่าสนใจ

จัดคลาสออกกำลังกายอย่างไรให้โดนใจคนที่ทำงาน
เมื่อคนใช้เวลากว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในที่ทำงานจดจ่ออยู่กับการทำงาน เวลาพักน้อย การจะขยับตัวเพิ่มกิจกรรมทางกายระหว่างวันก็เป็นไปได้ยากเพราะไม่อาจละจากงานตรงหน้าได้ ด้วยปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น การจะออกกำลังกายให้ได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลกยิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของพนักงานและเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

บูธประชาสัมพันธ์แอพสะกิด ที่การไฟฟ้านครหลวง เขตบางเขน
บูธประชาสัมพันธ์แอพสะกิด ที่การไฟฟ้านครหลวง เขตบางเขน
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 Sakid ได้ออกบูธประชาสัมพันธ์แอพสะกิดให้กับการไฟฟ้านครหลวง เขตบางเขน ในกิจกรรม Fun for Fit เพื่อแนะนำการเข้าร่วมโครงการ “MEA เบิร์นเกินร้อย” เปิดศึกการแข่งกันระหว่างทีมเพิ่มการเผาผลาญแคลอรี ด้วยการส่งภารกิจสุขภาพผ่านแอพสะกิด และลุ้นรับของรางวัลในแต่ละเดือน

Well Being คืออะไร สร้างสุขให้พนักงานด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี
Well Being เป็นหนทางสร้างสุขให้กับพนักงานที่แต่ละองค์กรควรมีเอาไว้ เพราะความเครียดในการทำงานนั้นไม่ได้มีเพียงร่างกายและจิตใจ แต่ยังมีอีกหลาย ๆ ส่วนประกอบรวมกัน

Workshop สร้างสรรค์ กิจกรรมสนุก ผ่อนคลาย
เริ่มต้นคลายเครียดจากการทำงาน มาผ่อนคลาย สนุก สร้างสรรค์ และพนักกงานมีส่วนร่วมทำWorkshopไปด้วยกัน กับกิจกรรม Workshop ทำอาหารสุขภาพ ที่ง่ายทำได้เองที่บ้าน สอนจัดสวนขวดตั้งบนโต๊ะทำงานเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทำเทียนหอมกลิ่นที่ชอบไว้จุดที่บ้าน ฯลฯ มาแต่ตัวและรับของที่ตัวเองทำกลับบ้านได้ด้วย

กิจกรรม 5ส คืออะไร (เข้าใจง่ายๆ ใน 5 นาที)
กิจกรรม 5ส คือเครื่องมือชั้นเยี่ยมในการจัดระเบียบและทำให้สามารถใช้พื้นที่ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่แท้จริงนั้นกิจกรรม 5ส คืออะไร มาหาคำตอบไปด้วยกัน

MBTI ถอดบุคลิกภาพ ไขความสำเร็จในการทำงานร่วมกัน
คุณเคยรู้สึกหงุดหงิดกับเพื่อนร่วมงานที่มีบุคลิกตรงข้ามกับคุณไหม คุณอาจเป็นคนเปิดเผย ชอบความตื่นเต้น แต่ต้องมาทำงานกับคนเงียบขรึม ชอบทำอะไรคนเดียว บางครั้งก็ทำให้เกิดความขัดแย้งและไม่เข้าใจกันได้ ความแตกต่างทางบุคลิกภาพเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้เราทำงานร่วมกันไม่ได้ หากเรามีความเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกัน