กิจกรรม csr
URL Copied!

“กิจกรรม csr” การทำเพื่อสังคมที่สร้างประโยชน์ได้มากกว่าที่คุณคิด

การที่ธุรกิจหนึ่งจะสามารถดำรงอยู่และเติบโตได้ ไม่ว่าอย่างไร ก็ต้องพึ่งพาสังคมและทรัพยากรที่มีอยู่บนโลก ธุรกิจที่เติบโตขึ้นจึงมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบและตอบแทนสังคมที่ให้การสนับสนุนและทรัพยากรที่ธุรกิจได้ใช้ไป เป็นที่มาของ กิจกรรม CSR หรือ Corporate Social Responsibility หรือที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า คือ การจัดกิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กร

 

กิจกรรม CSR คืออะไร

 

กิจกรรมเพื่อสังคม หรือ กิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility) คือ กิจกรรมที่บริษัทหรือองค์กรจัดขึ้นภายใต้แนวคิดในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถจัดกิจกรรมได้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เป็นกิจกรรมทำประโยชน์ให้กับสังคมที่หมายถึงผู้บริโภคที่สนับสนุนธุรกิจและทรัพยากรต่าง ๆ ที่ธุรกิจได้ใช้ 

 

กิจกรรม CSR สามารถจัดได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ได้จำกัดเฉพาะการปลูกป่าหรือการบริจาคสิ่งของให้กับผู้ยากไร้เท่านั้น กิจกรรม CSR ยังมีหลากหลายระดับที่องค์กรสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ระดับจริยธรรมการดำเนินงานจนถึงกิจกรรมที่มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม 

 

 

ในปัจจุบัน เรารับรู้กันว่า บริษัทใหญ่ ๆ มักจะจัดกิจกรรม CSR หรือกิจกรรมเพื่อสังคมอยู่เสมอ จนอาจเกิดความเข้าใจว่า กิจกรรม CSR คือ ข้อบังคับของบริษัทขนาดใหญ่ ในความเป็นจริงแล้ว ยังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับให้องค์กรต่าง ๆ ต้องทำ CSR แต่องค์กรขนาดใหญ่ส่วนมากก็ให้ความสำคัญของการทำ CSR ถือเป็นหนึ่งในหน้าที่หรือถึงขั้นจัดตั้งหน่วยงานในองค์กรสำหรับดูแลเรื่อง CSR โดยเฉพาะ 

 

แล้วเพราะเหตุใดองค์กรหรือธุรกิจถึงต้องให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรม CSR?

 

ทำไมต้องทำ CSR แม้ไม่มีกฎหมายบังคับ

 

แม้ไม่ได้มีข้อบังคับเชิงกฎหมาย แต่การทำ CSR ก็ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติขององค์กรและธุรกิจขนาดใหญ่ และถือว่าเป็นความรับผิดชอบของธุรกิจที่ต้องมีต่อสังคม เพราะการที่ธุรกิจดำรงอยู่และเติบโตขึ้นได้ก็มาจากแรงสนับสนุนของสังคมและจากการใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ ไฟฟ้า วัสดุจากธรรมชาติ รวมไปถึงกระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่าง ๆ จากการดำเนินธุรกิจที่ปฏิเสธไม่ได้

 

แต่นอกเหนือจากความรับผิดชอบที่ยึดถือกันแล้ว กิจกรรม CSR ยังมีประโยชน์ในแง่อื่นอีกด้วย ธุรกิจมักจัดกิจกรรม CSR เพื่อส่งเสริมค่านิยมของบริษัท ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ในมุมของผู้บริโภค เช่น กิจกรรมที่ส่งเสริมหรือสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสนใจ และใช้เป็นปัจจัยในการเลือกสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนแบรนด์/ธุรกิจต่าง ๆ

 

ในขณะเดียวกัน ประโยชน์อีกด้านที่ธุรกิจได้รับจากการจัดกิจกรรม CSR ต่าง ๆ คือ การสร้างทีมและสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน (Employee Engagement) โดยเฉพาะกิจกรรมที่ให้พนักงานได้มีส่วนร่วมและออกไปทำกิจกรรมด้วยกัน นอกจากนี้ กิจกรรม CSR ยังช่วยทำให้พนักงานเกิดความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับองค์กรที่ใส่ใจปัญหาหรือมีค่านิยมที่ตรงกันอีกด้วย

 

4 ระดับของการทำกิจกรรม CSR

 

การทำ CSR ไม่ได้จำกัดรูปแบบอยู่แค่กิจกรรมที่ต้องออกไปทำข้างนอกองค์กรหรือไปช่วยเหลือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งเท่านั้น แต่องค์กรสามารถจัดและทำกิจกรรม CSR ได้ในระดับต่าง ๆ 

 

ระดับของการทำ CSR แบ่งได้เป็น 4 ระดับ ดังต่อไปนี้ 

 

ระดับ 1: ข้อกำหนดตามกฎหมาย (Mandatory Level) หมายถึง การทำ CSR ตั้งแต่ในระดับกฎหมาย ธุรกิจมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายแรงงาน การจ่ายภาษี เป็นต้น 

 

ระดับ 2: ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (Elementary Level) หมายถึง การรับผิดชอบต่อสังคมโดยการคำนึงถึงความอยู่รอดและผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ทั้งผู้บริโภค พนักงาน ผู้ถือหุ้น ฯลฯ และกำไรที่ได้มาต้องไม่ได้มาจากการเอาเปรียบสังคม

 

ระดับ 3: จรรยาบรรณทางธุรกิจ (Preemptive Level) หมายถึง การประกอบกิจกรรมอย่างมีจรรยาบรรณ ไม่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผู้บริโภคและสังคม ไม่หาช่องว่างทางกฎหมายเพื่อเอาเปรียบผู้อื่น ใส่ใจต่อผลกระทบรอบด้านจากการทำธุรกิจ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ใกล้ฐานผลิตหรือผู้ที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

ระดับ 4: ความสมัครใจ (Voluntary Level) หมายถึง การจัดกิจกรรม CSR ที่จัดด้วยความสมัครใจ นอกเหนือจากหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เช่น กิจกรรมช่วยเหลือผู้ยากไร้ การบริจาคเพื่อการกุศล การสร้างโรงเรียน การส่งเสริมการตระหนักรู้ปัญหาสังคม ฯลฯ 

 

 

กิจกรรม CSR มีอะไรบ้าง? 

 

นอกจากระดับทั้ง 4 ของการทำ CSR แล้ว การทำกิจกรรม CSR ก็สามารถจัดทำได้ในหลายลักษณะ ซึ่งเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ลักษณะด้วยกัน 

 

1. การส่งเสริมประเด็นสังคม (Cause Promotion) หมายถึง การที่ธุรกิจจัดกิจกรรมหรือแคมเปญขึ้นเพื่อส่งเสริมประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในสังคม หรืออาจเป็นการช่วยเหลือในด้านทุนทรัพย์และทรัพยากร เช่น แคมเปญส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในสถานที่ทำงาน การระดมทุนช่วยเหลือองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม


2. การตลาดที่เกี่ยวโยงกับประเด็นสังคม (Cause-Related Marketing) หมายถึง การทำการตลาดที่มีส่วนช่วยสังคม การแบ่งส่วนหนึ่งจากยอดขายไปสมทบหรือบริจาคให้กับหน่วยงาน/มูลนิธิต่าง ๆ เช่น การทำฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อสื่อสารประเด็นทางสังคม การแบ่งยอดขายให้กับโรงพยาบาล ฯลฯ

 

3. การตลาดเพื่อแก้ปัญหาสังคม (Corporate Social Marketing) หมายถึง กิจกรรมหรือการทำการตลาดของธุรกิจที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นสังคม มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในด้านต่าง ๆ ส่วนใหญ่เห็นออกมาในรูปแบบของแคมเปญการตลาด เช่น โฆษณาที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ แคมเปญรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว 


4. การบริจาคเพื่อการกุศล (Corporate Philanthropy) หมายถึง กิจกรรมการบริจาคทั้งทุนทรัพย์และปัจจัยสิ่งของเพื่อช่วยเหลือปัญหาสังคม ทั้งที่มาจากการขอความช่วยเหลือและจากสถานการณ์ เช่น บริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม การบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ป่วยโรงมะเร็ง


5. การอาสาช่วยเหลือชุมชน (Community Volunteering) หมายถึง กิจกรรม CSR ที่ธุรกิจชักชวนในพนักงานออกสละเวลาส่วนตัวเพื่อไปช่วยเหลืองานสังคม โดยองค์กรอาจเป็นผู้ริเริ่มทำหรือไปร่วมทำกับหน่วยงานที่ทำอยู่ก่อนแล้ว เช่น กิจกรรมเก็บขยะในสถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรมเก็บขยะในแม่น้ำ กิจกรรมทำแนวกั้นไฟป่า


6. การประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Business Practices) หมายถึง การดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในสังคมและชุมชนแวดล้อม หลีกเลี่ยงการส่งเสริมให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น การใช้วัตถุดิบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้แรงงานอย่างเป็นธรรม การส่งเสริมให้พนักงานมีจิตสำนึกต่อสังคม


7. การพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก (Developing and Delivering Affordable Products and Services) หมายถึง การดำเนินธุรกิจและออกผลิตภัณฑ์หรือบริการสู่ตลาดในราคาที่ไม่แพง สมเหตุสมผล เหมาะกับกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่ม “ปัจจัย 4” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม 

 

ขั้นตอนและสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการจัดกิจกรรม CSR

 

สำหรับฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือ HR ที่ต้องการจัดกิจกรรม CSR ในองค์กร เรามีคำแนะนำในการเริ่มต้น 3 ขั้นตอนด้วยกัน 

 

ขั้นที่ 1: แยกแยะผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

 

แยกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจขององค์กรว่ามีใครบ้าง เพื่อให้รู้ว่า การดำเนินกิจกรรมของธุรกิจส่งผลกระทบต่อใครบ้าง ได้แก่ 

 

– ภายในบริษัท ได้แก่ ผู้ถือหุ้น  พนักงาน

 

– ผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยตรง ได้แก่ ลูกค้า ซัพพลายเออร์ คู่แข่ง

 

– ผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยอ้อม ได้แก่ ภาครัฐ ชุมชน

 

ขั้นที่ 2: พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ

 

คำนึงถึงผลกระทบและประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับองค์กร ยกตัวอย่างเช่น

 

– พนักงาน: สวัสดิการพนักงาน กฎหมายแรงงาน ความเท่าเทียมทางเพศในสถานที่ทำงาน 

 

– ผู้บริโภค: ความปลอดภัยของสินค้า ราคาและคุณภาพของสินค้าที่เป็นธรรม 

 

– สังคม: ผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่โดยรอบ ประเด็นทางสังคมต่าง ๆ

 

– สิ่งแวดล้อม: ข้อกำหนดต่าง ๆ ทางกฎหมาย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

ขั้นที่ 3: เลือกทำประเด็นที่จะดำเนินการตามความเหมาะสม 

 

พิจารณาประเด็นที่ธุรกิจอยากส่งเสริม โดยอาจจะพิจารณาที่เหมาะสม เช่น 

 

– ความพร้อมด้านทรัพยากร เช่น ความพร้อมด้านการเงิน ทรัพยากรบุคคล

 

– ค่านิยมที่องค์กรอย่างสนับสนุน เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน

 

– สถานการณ์ทางสังคม เช่น เกิดวิกฤตในสังคมหรือเกิดภัยพิบัติ

 

ตัวอย่างกิจกรรม CSR จากบริษัทชั้นนำ

 

1. น้ำดื่มสิงห์ บริจาคพื้นที่ฉลากข้างขวดเป็นป้ายตามหาคนหาย

 

น้ำดื่มสิงห์ กิจกรรม CSR ตามหาคนหาย

 

บริษัทน้ำดื่มสิงห์ ทำกิจกรรม CSR บริจาคพื้นที่ฉลากเป็นป้ายตามหาเด็กหาย 5 คน ถือเป็นกิจกรรม CSR ประเภทการตลาดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสังคม สร้างการตระหนักรู้เรื่องคนหายและช่วยกระจายข่าวเด็กหายทั้ง 5 คน

 

ที่มาข่าว: brandbuffet

 

2. King Power สร้างสนามหญ้าเทียม 100 สนาม ให้กับโรงเรียน

 

โครงการ 100 สนามฟุตบอล King Power

 

King Power จัด “โครงการ 100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย” สร้างสนามฟุตบอลให้กับโรงเรียนและชุมชนที่ขาดแคลน 100 แห่ง เพื่อเป็นพื้นที่ให้เยาวชนได้ฝึกซ้อม พร้อมสานฝันเยาวชนที่อยากเป็นนักเตะอาชีพโดยการส่งนักเตะเยาวชนไทยไปเข้าอะคาเดมีไกลถึงเมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ

 

ที่มาข่าว: marketingoops

 

3. ห้างสรรพสินค้า Lotus สร้างจุดรับบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล

 

ตู้รับคือพลาสติก

 

ห้างสรรพสินค้า Lotus ที่มีสาขาทั่วประเทศ จัดกิจกรรม CSR สร้างจุดรับบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล ทั้งขวดพลาสติก กล่องกระดาษ และพลาสติกชนิดต่าง ๆ เพื่อช่วยลดการกลบฝังขยะ ลดขยะที่ไม่จำเป็น และนำพลาสติกไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล ถือเป็นการทำกิจกรรม CSR ร่วมกับชุมชน ที่ทั้งส่งเสริมประเด็นและช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

 

ที่มาข่าว: lotuss

 

4. AirAsia ช่วยโปรโมตธุรกิจรายย่อยตามจังหวัดต่าง ๆ 

 

AirAsia ช่วยโปรโมตธุรกิจรายย่อย

 

สายการบิน AirAsia จัดทำโฆษณาแนะนำโปรโมชัน พร้อมชวนให้ผู้ประกอบการรายย่อยจากจังหวัดท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้แนะนำโปรโมชันหรือเชิญชวนให้คนมาท่องเที่ยว ถือเป็นกิจกรรม CSR ผ่านการทำโฆษณาที่ช่วยส่งเสริมสังคมแบบน่ารัก

 

ที่มาข่าว: AirAsia

 

5. กิจกรรมอาสาอื่น ๆ ที่ทุกองค์กรสามารถทำได้

 

– โครงการปล่อยเต่าคืนสู่บ้าน จากศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล

 

– โครงการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ท้องถิ่น จากมูลนิธิไทยรักษ์ป่า

 

– โครงการ Read for the blind อ่านหนังสือให้ผู้พิการทางสายตา ร่วมกับมูลนิธิคนตาบอด

 

– โครงการบริจาคเลือดกับสภากาชาด

 

– โครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา

 

และกิจกรรม CSR งานอาสาอีกมากมายที่องค์กรสร้างเข้าร่วมได้กับธนาคารจิตอาสา สร้างความเหนียวแน่นให้กับทีมงาน สร้างการมีส่วนร่วมในบริษัท ไปพร้อมกับการช่วยเหลือสังคม

 

สรุปประโยชน์ของการทำ CSR 

 

แนวคิดโดยพื้นฐานของการทำกิจกรรม CSR คือ การที่ธุรกิจรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อให้ทั้งธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน 

 

ประโยชน์สำคัญของการทำ CSR จึงทำไปเพื่อประโยชน์ของสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ในขณะเดียวกัน บริษัทหรือธุรกิจที่จัดกิจกรรมก็สามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคหรือสังคมได้ รวมไปถึงการส่งเสริมค่านิยมหรือ Core Value ที่องค์กรให้ความสำคัญ ตอกย้ำผ่านการทำกิจกรรม CSR 

 

สำหรับประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ก็อย่างเช่น ประโยชน์จากการจัดกิจกรรมที่ทำให้พนักงานมีส่วนร่วมกับองค์กร การสร้างความสุขและความภาคภูมิใจในการทำงานร่วมกับองค์กรของพนักงาน ธุรกิจได้รับการยอมรับจากสังคม เมื่อธุรกิจเกื้อหนุนสังคม สังคมก็จะเต็มใจให้ความสนับสนุน สร้างระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาอาศัยกัน

บทความที่น่าสนใจ

Smart Office

[เคล็ดลับ] สร้าง Smart Office ที่ดีเพื่อองค์กรของคุณ

ในยุคหลังโควิด เกิดการปรับตัวขององค์กรมากมาย หนึ่งในนั้นคือการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็น Smart Office ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนทำงานมากขึ้น แนะนำเคล็ดลับ

อ่านต่อ »
สวัสดิการสุขภาพพนักงาน

สวัสดิการสุขภาพพนักงาน เรื่องพื้นฐานที่องค์กรต้องใส่ใจ

เพราะปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้คุณค่ากับการดูแลตัวเอง องค์กรหรือบริษัทจึงควรหันมาใส่เรื่องสวัสดิการสุขภาพพนักงานกันมากขึ้น แล้วสวัสดิการสุขภาพไหนบ้างที่คนทำงานมองหา

อ่านต่อ »
เมื่อคนในองค์กรน้ำหนักเกิน-01-SAKID

ทำอย่างไร เมื่อคนในองค์กรน้ำหนักเกิน

 ปัจจุบันในประเทศไทยพบว่าแนวโน้มภาวะ น้ำหนักเกิน และ ภาวะอ้วนเพิ่งสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป ร่วมกับ activity ที่ลดลง เป็นตัวส่งเสริมให้เรามีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพนักงงาน office อย่างเราๆ ที่ Activity นั้นแสนจะน้อยนิด ส่วนใหญ่ก็นั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ จนหลายคนเกิดปัญหาเรื่อง Office syndrome ตามมา

อ่านต่อ »
ออฟฟิศซินโดรม

เข้าใจ “ออฟฟิศซินโดรม” พร้อมวิธีป้องกันเบื้องต้นที่ทุกคนควรรู้

ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร อาการ สาเหตุและพฤติกรรมเสี่ยง วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีป้องกันออฟฟิศซินโดรมเบื้องต้น ที่คนทำงานและบริษัทต้องรู้

อ่านต่อ »
Office syndrome- ฉบับวัยทำงาน-SAKID

รู้เท่าทัน OFFICE SYNDROME ฉบับวัยทำงาน

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน การทำงานในออฟฟิศกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับคนในสังคม ความสะดวกสบายที่เข้ามาแทนที่ ทำให้เราไม่ได้ปรับเปลี่ยนท่าทาง กลายเป็นต้องทำงานอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง ท่าเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานในบริษัท หรือองค์กร

อ่านต่อ »
สร้าง happy worplace-Sakid thumbnail

อยากสร้าง Happy Workplace เริ่มต้นที่…

ความสุขของพนักงานกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพและความสำเร็จขององค์กร “Happy Workplace” หรือสถานที่ทำงานที่เต็มไปด้วยความสุข ไม่ใช่เพียงแค่แนวคิด แต่เป็นกลยุทธ์ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง แล้วเราจะสร้าง Happy Workplace ได้อย่างไรกัน?

อ่านต่อ »