ทำอย่างไร เมื่อคนในองค์กรเป็น Office syndrome
- 12/04/24
คุณเป็นอีกคนหนึ่งหรือเปล่าที่ตอนนี้กำลังมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดบ่า ปวดหัว นั่งทำงานสักพักก็รู้สึกตึงเมื่อย หากคุณคิดว่า นี่ไม่ใช่เพราะอายุเพียงอย่างเดียว แต่กำลังบ่งบอกว่าคุณมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็น Office syndrome โรคยอดฮิตที่หลายคนรู้จักแต่คงไม่อยากที่จะสนิทสนม
Office syndrome คืออะไร
Office syndrome คือ กลุ่มอาการ ไม่ใช่โรค และไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นกับเฉพาะพนักงานออฟฟิศ แต่ Office syndrome คือกลุ่มอาการที่เกิดมาจากการใช้พฤติกรรมที่ทำซ้ำ ๆ ต่อเนื่อง ๆ นาน จนเกิดอาการบาดเจ็บขึ้นมา ลองจินตนาการดูว่า หากคุณต้องยืนทำงานเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจจะแค่เพียง 30 นาที คุณก็จะเริ่มรู้สึกถึงอาการเมื่อยล้าที่เกิดขึ้นทั้งบริเวณน่อง ต้นขา สะโพก หลังส่วนหลัง ลามไปกล้ามเนื้อบ่าและคอ เป็นต้น พอเมื่อยล้านานวันเข้าเป็นอาการสะสม เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อที่ได้รับการบาดเจ็บซ้ำ ๆ นอกจากนี้เรายังมีพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงคือ การเคลื่อนไหวร่างกายน้อย เรานั่งทำงานนาน ๆ ยืนนาน ๆ ทำอะไรนาน ๆ ไม่มีการเคลื่อนไหวที่ได้ใช้องศาของร่างกายอย่างเต็มที่ เลือดและลมปราณในร่างกายจึงเคลื่อนไหวได้ไม่ดี ในภาษาแพทย์แผนจีนมักจะเรียกว่า “ชี่อั้น” หรือ “ชี่ไม่เคลื่อนไหว“ และนี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดขึ้นมาและอาจจะมีอาการชาร้าวร่วมได้ขึ้นอยู่กับความหนักของอาการบาดเจ็บ แต่ที่แน่ ๆ คุณคงไม่ได้รู้สึกสนุกและยินดีไปกับอาการการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นนี้
จริง ๆ แล้วกล้ามเนื้อในร่างกาย เนื้อเยื่อ ทุกส่วนทำงานสัมพันธ์กัน รวมไปถึงจิตใจ หากคุณเข้าใจสิ่งนี้มันจะทำให้คุณเข้าใจสาเหตุการเจ็บป่วยและเข้าใจลักษณะนิสัยพฤติกรรมของตัวคุณเองว่า เพราะอะไรคุณถึงปล่อยให้ตัวเองทำงานอย่างบ้าระห่ำ จนลืมใส่ใจร่างกายของตัวเอง
สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่า Office syndrome กำลังมาเยือน
1.อาการตึง หลายครั้งที่ผู้ป่วยมาหานักกายภาพบำบัดหรือแพทย์เพราะอาการปวดจนทนไม่ไหว เดินไม่ได้ นั่งไม่สะดวก และใช้เวลาและค่ารักษาจำนวนมากจนกว่าอาการจะดีขึ้น แต่คุณไม่จำเป็นที่จะต้องรอเพื่อไปถึงจุดนั้น เพียงแค่คุณกลับมาสัมผัสถึงตัวเอง มาเช็คความรู้สึกของร่างกายให้ได้ว่าตอนนี้คุณกำลังรู้สึกอะไร คุณจะเริ่มสนิทกับร่างกายคุณมากยิ่งขึ้น ไวต่ออาการเจ็บปวด ถ้าคุณเพียงแค่ตึงหลังโปรดรู้ไว้ว่าตอนนี้คุณอาจจะนั่งนานเกินไป ยืนนานเกินไปกว่าร่างกายคุณจะรับไหว
2.คุณไม่สามารถรับรู้ได้ถึงลมหายใจของคุณ ลมหายใจเป็นจุดเชื่อมโยงร่างกายกับจิตใจ หากคุณหลงลืมลมหายใจของคุณในแต่ละขณะ นั่นหมายความว่าคุณกำลังดำดิ่งไปกับการทำงานหรือความคิด สิ่งนี้ทำให้คุณละเลยร่างกายตัวเอง เพราะคุณไม่ได้ยินเสียงตัวเอง กล้ามเนื้อจะเกร็งมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว เมื่อไหร่ที่เรารับรู้ลมหายใจของเราได้ นั่นหมายความว่าเรากำลังรู้สึกผ่อนคลาย และกำลังมาสู่สภาวะปกติ
3.ความเครียดตอนทำงาน ทุกครั้งที่คุณเครียดกล้ามเนื้อและลมหายใจของคุณจะสั้นและเกร็งต้าน คุณจะเผลอกัดฟันโดยไม่รู้ตัว คิ้วขมวด อาหารไม่ย่อย ถ้าคุณสามารถกลับมารับรู้อารมณ์ตัวเองได้บ่อย ๆ นั่นจะช่วยให้คุณกลับมาเตือนตัวเองได้และเข้าใจจิตใจตนเองด้วย
การรักษา Office syndrome ที่ควรรู้
1. ปวดตึงแต่ทนไหว ไม่รบกวนชีวิตประจำวันมากนัก รักษาได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิต หลีกเลี่ยงการนั่งนาน ยืนนาน การทำงานในท่าซ้ำ ๆ สลับเปลี่ยนอิริยาบถทุก 2 ชั่วโมง สูดหายใจเข้าออกลึก ๆ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และหมั่นออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงทนทานและมีความยืดหยุ่นเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ
2.เริ่มปวดหนักจนรบกวนชีวิตประจำวันทั้งการทำงานและการนอนหลับ ปัจจุบันมีทางเลือกมากมาย อาทิ การรักษาทางหัตถเวช กินยา ฉีดยา หรือผ่าตัด ฯลฯ และมีสหวิชาชีพที่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยจาก Office syndrome ได้ อาทิ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน แพทย์ทางเลือกอื่น ๆ พลังงานบำบัด คลื่นเสียงบำบัด เป็นต้น
นอกจากนี้การรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ฉะนั้นคำแนะนำในการเลือกเข้ารับการรักษาจึงควรเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพที่สามารถช่วยวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงของอาการเจ็บป่วย ที่ทำให้คุณเข้าใจถึงสาเหตุการเกิดโรคและการดูแล และการปรับพฤติกรรมระยะยาวที่จะทำให้คุณห่างไกลจาก Office syndrome ได้อย่างแท้จริง
3 ท่าออกกำลังกายง่าย ๆ ที่สามารถลดอาการบาดเจ็บ Office syndrome
ท่าที่ 1 ท่าคลายกล้ามเนื้อคอบ่า: ยักไหล่ขึ้น 2 ข้างเกร็งค้างไว้ 10 วินาที ไม่กลั้นลมหายใจ จึงผ่อนลงทำซ้ำ 3 ครั้ง
ท่าที่ 2 ท่าเหยียดเส้นแขน: ยกมือขึ้นต้านฟ้า อีกมือหนึ่งกดต้านดิน เกร็งค้างไว้ 10 วินาที ไม่กลั้นลมหายใจ ทำสลับกันซ้ายขวา จึงผ่อนลงทำซ้ำ 3 ครั้ง
ท่าที่ 3 ท่าบิดหมุนกระดูกสันหลัง: มือจับเข่าด้านตรงข้ามบิดหมุนแกนสันหลังไปด้านตรงข้ามจับขอบเก้าอี้ไว้ สายตามองพาดไหล่ เกร็งค้างไว้ 10 วินาที ไม่กลั้นลมหายใจ ทำสลับกันซ้ายขวา จึงผ่อนลงทำซ้ำ 3 ครั้ง
องค์กรสามารถช่วยจัดการภาวะ Office syndrome ได้อย่างไร
การสนับสนุนขององค์กรมีส่วนช่วยลดความเสี่ยง Office syndrome ของพนักงาน ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้ว ทำให้พนักงานไม่สุขสบาย ปวดจนทำงานไม่ไหว ก็ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน หรือเมื่อมีอาการมากจนต้องไปพบแพทย์ หรือกายภาพบำบัด ก็ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาล ดังนั้นหากองค์กรมีแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพ ก็จะช่วยให้องค์กรมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น
• ให้ความรู้แนวทางการป้องกัน Office syndrome เช่น Workshop จากนักกายภาพบำบัด, ประชาสัมพันธ์ความรู้ในองค์กร
• มีแจ้งเตือนให้พนักงานลุกขึ้นขยับ หรือยืดเหยียด ในการทำงานระหว่างวัน
• สนับสนุนกิจกรรมให้พนักงานได้เคลื่อนไหว ไม่ทำท่าเดิมซ้ำ ๆ เช่น คลาสออกกำลังกาย แข่งขันก้าวเดิน
• จัดอุปกรณ์การทำงาน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ให้มีความเหมาะสม ปรับท่านั่งให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ลดการทำงานของกล้ามเนื้อคอ บ่า และหลัง
ภาวะ Office syndrome อาจจะดูเหมือนปัญหาเล็ก ๆ แต่ถ้าได้เกิดขึ้นแล้ว ยิ่งปล่อยไว้เรื้อรัง ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ ทั้งต้องทนกับความเจ็บปวด และต้องใช้เวลาฟื้นฟูนาน ดังนั้นเริ่มขยับ ป้องกันตั้งแต่วันนี้กันดีกว่า หรือเพิ่มการขยับด้วยแข่งขันก้าวเดิน SAKID application หรือ Workshop จากนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งช่วยประเมินการยศาสตร์เป็นรายบุคคลได้ วิเคราะห์ท่าทางวิธีการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน ลักษณะและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
เขียนโดย: กภ.มนัสวี ศุระศรางค์
บทความที่น่าสนใจ
เมื่อ ‘น้อยกว่า’ กลายเป็น ‘มากกว่า’: 4 วันทำงานกับผลลัพธ์ที่เหนือความคาดหมาย
คุณรู้สึกว่าการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์ ทำให้คุณหมดแรงและขาดแรงบันดาลใจในการทำงานหรือไม่? คุณไม่ได้เป็นคนเดียวที่รู้สึกเช่นนี้ เพราะงานวิจัยล่าสุดชี้ว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์อาจเป็นคำตอบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และยังช่วยสร้างสมดุลที่ดีระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวให้พนักงานมีความสุขมากยิ่งขึ้น
How to วางงบจัดกิจกรรม บริษัท องค์กร ให้คุ้มค่าและได้ผลลัพธ์สุดปัง
ในปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ให้ความสำคัญการดูแลด้าน Well-being หรือสุขภาวะที่ดีของพนักงาน เพราะเล็งเห็นว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร ในการดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปตามเป้าหมายขององค์กร หากพนักงานมีความสุขก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน และมีความผูกพันต่อองค์กร แต่ทราบหรือไม่ว่านอกจากนี้ยังสามารถขอรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องได้หลายมาตรฐาน ซึ่งทำให้มั่นใจว่ากิจกรรมด้าน Well-being ที่จัดให้พนักงานมีความครบถ้วนหรือไม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด และหากองค์กรได้รับรางวัลมาตรฐานเหล่านี้ ยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่องค์กร สร้างภาพลักษณ์ต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งพนักงาน ลูกค้า และบุคคลภายนอกในการเป็นองค์ที่มีความใส่ใจพนักงาน
สวัสดิการสุขภาพพนักงาน เรื่องพื้นฐานที่องค์กรต้องใส่ใจ
เพราะปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้คุณค่ากับการดูแลตัวเอง องค์กรหรือบริษัทจึงควรหันมาใส่เรื่องสวัสดิการสุขภาพพนักงานกันมากขึ้น แล้วสวัสดิการสุขภาพไหนบ้างที่คนทำงานมองหา
WORKSHOP Cooking class สลัดโรล
กิจกรรม Cooking class สลัดโรล
วันที่ 20 สิงหาคม 2567 SAKID ได้จัดกิจกรรม Cooking class สลัดโรล ที่บริษัท CBRE โดยพนักงานได้เข้าร่วมจำนวน 40 คน ซึ่งนักกำหนดอาหารวิชาชีพ ได้เป็นผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบและมีทริคการดูแลสุขภาพด้านอาหารสำหรับชาวออฟฟิศให้เล่นเกมสุขภาพพร้อมรับของรางวัลกันอีกด้วย คลาสสอนทำสลัดโรลจะแบ่งทำเป็น 2เมนูคือ สลัดโรลเต้าหู้ กับ สลัดโรลปลาทูนึ่ง โดยทั้งสองเมนูจะใช้รสชาติจากผักและสมุนไพรเป็นหลักเพื่อสุขภาพที่ดีและน้ำจิ้มสูตรโซเดียมต่ำ อร่อยได้ง่ายๆ และสามารถนำกลับไปทำเองได้ที่บ้านได้
แพลตฟอร์ม สื่อสารพูดคุยในบริษัทที่น่าสนใจ
การแยกเรื่องงานออกกจากความเป็นส่วนตัวเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจำให้เรารู้จัก Work Life Balance เวลาได้เป็นอย่างดี ในการใช้แพลตฟอร์มที่มีความเป็นส่วนตัวมาทำงาน สั่งงาน ตามงาน อาจจะไม่เหมาะสักเท่าไรในบริษัท ส่วนลูกค้าถ้าจะทำให้ติดต่อง่ายอาจจะใช้เป็นช่องทางLine officialของบริษัทในการพูดคุยกับลูกค้าได้ มีเวลาทำการที่ชัดเจนโดยไม่ใช้ไลน์ส่วนตัวในการพูดคุย
Employee Engagement เทคนิคสานสัมพันธ์ของพนักงานและองค์กร
การสานสัมพันธ์ของพนักงานและองค์กร ถือเป็นโจทย์ที่น่าขบคิดอีกหนึ่งอย่างสำหรับ HR และผู้บริหารภายในองค์กร Employee Engagement จึงเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในจุดนี้