URL Copied!
work life balance คือ

Work Life Balance คืออะไร ทำไมจึงสำคัญกับการทำงานยุคใหม่

“Work life balance” เป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าเป็นตามโซเชียลมีเดีย บทความเกี่ยวกับการทำงาน หรือในพอดแคสต์ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ ก็ถือเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่า สังคมการทำงานในทุกวันนี้ ขาดแคลนความสมดุล จนคนทำงานต้องถามหาสิ่งที่เรียกว่า “Work-life balance” 

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องของ Work-life balance มักจะถูกพูดถึงในมุมของคนทำงาน คล้ายกับว่า เป็นเรื่องที่คนทำงานในฐานะปัจเจกจะต้องรับผิดชอบ ความเป็นจริงแล้ว สาเหตุหลัก ๆ ของภาวะ “Work (ที่) ไร้ Balance” นั้น มาจากที่ทำงานหรือตัวองค์กร และสุดท้ายผลกระทบจากการขาดสมดุลในชีวิตของพนักงานก็ตกมาที่องค์กรในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภาพและประสิทธิภาพในการทำงานลดลง อัตราลางานและอัตราการลาออกที่สูงขึ้น 

 

บทความนี้ จึงอยากชวนให้องค์กรหรือบริษัทเข้าใจถึงผลกระทบในประเด็นนี้ เข้าใจถึงบทบาทที่องค์กรสามารถส่งเสริมให้พนักงานมีสมดุลระหว่างการทำงาน-การใช้ชีวิตที่ดีได้ พร้อมกับไอเดียในการแก้ปัญหาที่หลาย ๆ องค์กรเริ่มปรับใช้นำร่องไปก่อนแล้ว จะมีวิธีการไหนบ้าง 

 

 

Work Life Balance คืออะไร

มาเริ่มทำความเข้าใจนิยามของคำคำนี้ ให้เข้าใจตรงกันก่อน 

 

Work Life Balance คือ สมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งคำสำคัญที่ต้องเข้าใจก็คือ ‘สมดุล’ ที่ว่านั้นหมายถึงอะไร คำว่า “สมดุล” ในที่นี้ หมายถึง การทำงานและการใช้ชีวิตไม่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อกันและกัน ในบางจังหวะชีวิตอาจทำงานหนักกว่าการใช้เวลาส่วนตัว หรือในบางช่วงภาระความรับผิดชอบต่าง ๆ ในชีวิตก็เรียกร้องให้เอาใจใส่มากกว่า 

 

ดังนั้น คำว่า “สมดุล” หรือ “Balance” ในที่นี้ จึงไม่ได้หมายถึงการแบ่งเวลาหรือพลังงานของคนเราแบบเท่า ๆ กัน 50 : 50 หรือทฤษฎีการจัดสรรเวลาสูตร 8 : 8 : 8 (เป็นเวลาทำงาน เวลาพักผ่อน และเวลาสำหรับการดูแลชีวิต) ที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกัน จึงไม่ใช่ตัวอย่างของการปรับสมดุล Work Life Balance เท่านั้น 

 

นอกจากนี้ การที่คนคนหนึ่งทำงานหนักมากอย่างเช่น คนที่ทุ่มเททำงานเพื่อสร้างธุรกิจในช่วงตั้งไข่อาจทำงานมากถึงวันละ 14 ชั่วโมง หรือเจ้าของกิจการที่ทำงานหนักกว่าพนักงาน ก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาขาด Work-life balance เสมอไป ทั้งหมดขึ้นอยู่กับจังหวะในชีวิตของเขาในช่วงนั้น ๆ ต้องการทำอะไร แล้วการทำงานของเขากระทบกับการใช้ชีวิต สุขภาพ หรือความสัมพันธ์กับคนรอบตัวแค่ไหน

 

ความสำคัญของ Work Life Balance ในมุมขององค์กร/บริษัท

 

ในมุมของคนทำงาน คงไม่ต้องอธิบายกันมากมาย ว่าทำไมเรื่อง Work-life balance ถึงสำคัญ เพราะการทำงานหนักมากเกินไปจนเสียสมดุล ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมไปถึง ไม่มีเวลาในการดูแลตัวเองและจัดการเรื่องอื่น ๆ ในชีวิต

 

ส่วนในมุมของบริษัท ปัญหา Work-Life Balance ยังเป็นปัญหาที่หลายองค์กรยังมองข้ามอยู่ เพราะเมื่อมองอย่างผิวเผินแล้ว การที่พนักงานทุ่มเททำงานหนักให้บริษัทน่าจะเป็นเรื่องที่บริษัทได้ประโยชน์เต็ม ๆ

 

ความเป็นจริงแล้ว การที่พนักงานขาด Work-life balance จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของบริษัท/องค์กรเหมือนการที่โดมิโน่ล้มต่อกันไปเรื่อย ๆ เริ่มจากปัญหาสุขภาพพนักงานที่ย่ำแย่ลงจากการทำงานหนักและขาดเวลาในการดูแลตัวเอง ปัญหาสุขภาพใจจากการทำงาน เช่น ภาวะเครียด วิตกกังวล หรือรุนแรงถึงภาวะหมดไฟ และภาวะซึมเศร้า ฯลฯ โดยข้อมูลจาก ACAS ระบุว่า ภาวะขาด Work Life Balance เป็นสาเหตุให้พนักงานลางาน และส่งผลให้ประสิทธิภาพและ Productivity ในการทำงานลดลง

 

ในทางกลับกัน หากคนทำงานมี Work Life Balance ที่ดี ก็มีแนวโน้มที่พวกเขาจะทำงานได้ดีขึ้น โดยมีอีกหนึ่งงานวิจัยที่ทำการศึกษาบริษัทถึงกว่า 80% ใน Fortune 500 (500 บริษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกา) พบว่า คนทำงานที่เชื่อว่าตัวเองมี work-life balance ทำงานหนักมากกว่าถึง 21%  เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีสมดุลระหว่างการงานและชีวิตที่ดี 

 

นอกจากนี้ เรื่องของ Work Life Balance ยังสัมพันธ์กับความพึงพอใจในการทำงานของพนักงาน ยิ่งถ้าพนักงานมีความพึงพอใจกับงานหรือสถานที่ทำงานก็มีแนวโน้มที่พวกเขาจะเต็มที่กับการทำงานเพื่อตอบแทนองค์กรมากกว่าอีกด้วย

 

คำถามก็คือ เมื่อ Work-Life Balance ส่งผลต่อบริษัทขนาดนี้ บริษัทควรจะส่งเสริมสมดุลการงาน-การใช้ชีวิตของพนักงานอย่างไรดี?

 

เคล็ดลับสำหรับองค์กร สร้างสมดุลการทำงานให้กับพนักงาน

 

สำหรับธุรกิจหรือองค์กรที่เห็นความสำคัญของ Work-life balance และอยากส่งเสริมสมดุลการงาน-การใช้ชีวิตให้กับพนักงาน ด้านล่างนี้ คือ ไอเดียที่หลาย ๆ องค์กรได้เริ่มต้นทำไปก่อนแล้วได้ผล ที่เราอยากแนะนำเป็นแนวทางให้บริษัทหรือองค์กรของคุณนำไปพิจารณาปรับใช้ต่อ

 

1. ยืดหยุ่นเวลาเข้า-ออกงาน

ในบางครั้ง เวลาการเข้า-ออกงาน หรือการตอกบัตร-สแกนนิ้วรายงานตัวเข้าทำงานก็เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต เพราะในบางวัน พนักงานอาจมีเหตุจำเป็นที่ต้องสะสางให้เรียบร้อยก่อน การกำหนดเวลาเข้า-ออกงานแบบเป๊ะ ๆ หรือมีมาตรการหักเงินค่ามาสาย อาจไม่สมเหตุสมผลเสมอไป

 

เวลาเข้า-ออกงานที่ยืดหยุ่นจะช่วยให้พนักงานมีอำนาจในการจัดสรรและบริหารเวลาส่วนตัวได้ดีขึ้น เช่น เช้านี้อาจต้องไปทำธุระที่ธนาคารก่อนเข้างาน หรือบางคนต้องไปส่งลูกค้าเข้าโรงเรียนก่อน ฯลฯ 

 

บริษัทสามารถส่งเสริม Work life balance ในจุดนี้ได้ อาจเป็นการกำหนดเวลาทำงานครบ 8 ชั่วโมง และมีกะให้เข้าสามช่วง เช่น 8, 9 และ 10 นาฬิกา หรือเปลี่ยนการวัดผลเป็นผลลัพธ์และประสิทธิภาพการทำงาน (Performance Based) โดยที่ไม่สนใจเวลาเข้าทำงาน เพียงแต่ตกลงเวลาส่งงานและประชุมงานเท่านั้น 

 

2. Work From Home และ Remote Working 

 

 

คล้ายกับเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น อีกมาตรการที่ช่วยส่งเสริมให้พนักงานมีสมดุลการทำงาน-การใช้ชีวิตที่ดี คือ การที่พวกเขาสามารถเลือกทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) หรือจะทำงานจากที่ใดก็ได้ (Remote Working) ขอแค่ให้ทำงานออกมาสำเร็จทันเวลา  

วิธีการนี้ จะช่วยเปิดโอกาสให้พนักงานมีเวลาในการดูแลตัวเองมากขึ้น มีเวลาจัดระเบียบบ้านและชีวิต หรือมีเวลาพักผ่อนเพิ่มขึ้น จากการที่ไม่ต้องเดินทางไปทำงาน 

 

ปัจจุบัน บางองค์กรก็นำแนวคิดนี้ มาปรับใช้ผสมผสานกับการทำงานในรูปแบบปกติ (Routine Woring) เช่น สามารถทำงานที่บ้านหรือที่ใดก็ได้ 2 วันต่อสัปดาห์ หรือเข้าออฟฟิศมาประชุมกันเพียงสัปดาห์ละครั้ง หรือบริษัทสมัยใหม่บางที่ก็ถึงขึ้นอนุญาตให้พนักงานสามารถ Workation ทำงานได้ด้วย-ท่องเที่ยวไปได้อีกด้วย

 

3. รีวิว Workload หรือภาระงาน และกระจายงาน

 

หนึ่งในปัญหาสำคัญของ Work-ไร้-Balance คือ การที่ภาระงานของคนทำงานหนักเกินไป ซึ่งผู้มอบหมายงาน หัวหน้างาน หรือผู้จัดการควรหมั่นรีวิวภาระงานของคนทำงานในทีมแต่ละคน ดูว่าใครรับภาระมากเกินไปหรือเปล่า หรือพนักงานคนไหนที่สามารถแบ่งเบาภาระไปทำเพิ่มเติมได้บ้าง 

 

ฟีเจอร์ Workload Management จาก Clickup

ฟีเจอร์ Workload Management จาก Clickup

 

สำหรับวิธีติดตาม Workload ของพนักงานแต่ละคน องค์กรสามารถใช้เครื่องมือจัดการภาระงาน จำพวก Productivity Tools หรือ Project Management ที่ใช้มอบหมายงานและสามารถกำหนดระยะเวลาที่ใช้ทำงานโดยประมาณ (Estimate working hour) เพื่อสรุป workload ของพนักงานในแต่ละสัปดาห์ได้ หรืออาจจะใช้การแบ่งสล็อตงาน (slot) บน Excel หรือ Google Sheet ก็เป็นอีกเครื่องมือที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย

 

4. สวัสดิการสุขภาพและการส่งเสริมสุขภาวะ

 

สวัสดิการสุขภาพ เช่น เงินช่วยค่ารักษาพยาบาล ประกันสุขภาพ สิทธิวันลาป่วย ฯลฯ หรือสวัสดิการที่ช่วยส่งเสริมการดูแลตัวอย่าง เช่น สิทธิหรือส่วนลดฟิตเนส โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพพนักงาน (EAP) ที่คอยเตือนให้พนักงานใส่ใจดูแลสุขภาพ จะช่วยลดภาระในการดูแลสุขภาพของพนักงานลง 

ตัวอย่าง EAP ดูแลสุขภาพพนักงานจาก SAKID

ตัวอย่าง EAP ดูแลสุขภาพพนักงานจาก SAKID

 

รวมไปถึงการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีผ่านกิจกรรมหรือนโยบายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมลดน้ำหนักพนักงาน กิจกรรมออกกำลังกายต่าง ๆ โรงอาหารสุขภาพ (Healthy canteen) หรือของว่างสุขภาพ (Healthy snack break)  ก็ช่วยสร้างสมดุลในด้านสุขภาพให้กับพนักงาน 

 

นอกจากนี้ เรื่องของสุขภาพจิตเป็นอีกเรื่องที่ต้องใส่ใจ บริษัทสมัยใหม่จะให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิต โดยการให้มีนักจิตวิทยาหรือบริการที่เกี่ยวข้องให้พนักงานไปพูดคุยขอคำปรึกษา หรือใช้โปรแกรมผู้ช่วยพนักงาน หรือ EAP อย่าง SAKID ที่มีฟีเจอร์ติดต่อพูดคุยกับนักจิตวิทยาได้ 

 

5. สนับสนุนค่านิยม Work Life Balance 

 

นอกจากเรื่องของนโยบายการทำงานที่ส่งเสริม Work-lofe balance และสวัสดิการต่าง ๆ แล้ว เรื่องของการสร้างวัฒนธรรมและส่งเสริมค่านิยมเองก็เป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญ

 

เริ่มต้นจากการที่หัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้บริหาร ส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานที่ให้คุณค่ากับ Work-life balance และเคารพเวลาส่วนตัวของพนักงาน เช่น ไม่ทักถามเรื่องงานหลังเวลางาน ไม่ส่งเสริมให้ทำงานล่วงเวลา มีระบบการประเมินผลจากผลงานมากกว่าปริมาณงานหรือเวลาที่ใช้ สร้างบทสนทนาในเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากเรื่องงาน เพื่อสนับสนุนให้พนักงานใส่ใจกับชีวิตในด้านอื่น ๆ และไม่รู้สึกว่า ชีวิตด้านอื่นมีความสำคัญน้อยกว่าเรื่องงาน 

 

คำแนะนำสำหรับพนักงาน เมื่อที่ทำงานขาด Work Life Balance

 

 

แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกบริษัทจะใส่ใจเรื่อง Work-life balance ของพนักงาน ในมุมของพนักงานควรจะต้องทำอย่างไร หากรู้สึกว่า ที่ทำงานไม่สนับสนุนหรือส่งเสริมให้พนักงานมีสมดุลที่ดีในการทำงานและการใช้ชีวิต 

 

1. นิยามและแจกแจงปัญหาที่กำลังเผชิญ

 

พยายามแจกแจงปัญหาเรื่องการทำงานที่รบกวนการใช้ชีวิตออกมาว่ามีอะไรบ้าง เช่น การทักถามงานนอกเวลาทำงาน ระยะเวลาที่กระชั้นชิดจนต้องทำงานล่วงเวลา การส่งเสริมให้คนทำงานล่วงเวลาหรือเกินหน้าที่จนเป็นเรื่องปกติหรือมาตรฐาน

 

2. สื่อสารปัญหา หารือ และเสนอทางแก้

 

สื่อสารปัญหากับหัวหน้างาน ผู้จัดการ หรือคนที่มีอำนาจในการจัดการ พร้อมเสนอหนทางเริ่มจากสิ่งการเคารพเวลาส่วนตัว การสื่อสารถึงภาระงานที่หนักเกินไป การหารือแจกแจงและกระจายงาน ซึ่งพนักงานสามารถรวมตัวกันหารือและเสนอวิธีการแก้ไขปัญหา อาจใช้วิธีการในบทความนี้ หรือหาวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเติม

 

3. รักษา Work-life balance เท่าที่ทำได้ก่อน 

 

ไม่ว่าการสื่อสารปัญหากับหัวหน้างานหรือบริษัทจะประสบความสำเร็จหรือไม่ อย่างไรในฐานะบุคคล คนทำงานสามารถรักษา Work-life balance ในขอบเขตที่สามารถทำได้ก่อน เช่น

 

– ให้ความสำคัญกับสุขภาพและการดูแลตัวเอง

 

– ตั้งเป้าหมายและลำดับความสำคัญของงานและชีวิต

 

– ขีดเส้นเวลาทำงานให้ชัดเจน ควรล็อกเวลาพักผ่อนและเวลานอนให้ตัวเอง

 

– วางแผนพักผ่อนหรือท่องเที่ยว วางแผนการลาพักร้อน 

 

– เรียนรู้ที่จะปฏิเสธและต่อรองขอความช่วยเหลือ

 

– ไม่ตอบหรือสนใจข้อความเกี่ยวกับเรื่องงานนอกเหนือเวลางาน 

 

– ไม่กลัวที่จะขาดการติดต่อกับงาน เมื่อหมดเวลางาน

 

สรุป

 

เรื่องของการสร้าง Work-life balance ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคลหรือตัวคนทำงานที่ต้องรับผิดชอบเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องยากที่คนทำงานจะรักษาสมดุลการทำงานและการใช้ชีวิต หากบริษัทไม่ได้สนับสนุนค่านิยมนี้และทำในสิ่งตรงข้าม 

 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการที่พนักงานขาด Work life balance ก็ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อบริษัทหรือองค์กรได้เช่นกัน บทบาทของการส่งเสริมให้พนักงานมีสมดุลในการทำงานและการใช้ชีวิตจึงถือเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้บริษัทเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน หวังว่า บทความนี้ จะช่วยให้องค์กรของคุณเห็นความสำคัญของ Work-life balance และแนวทางในการปรับใช้ต่อไป

บทความที่น่าสนใจ

Sport day-mea-SAKID

บูธประชาสัมพันธ์แอพสะกิดที่งาน Sports Day การไฟฟ้านครหลวง

บูธประชาสัมพันธ์แอพสะกิดที่งาน Sports Day การไฟฟ้านครหลวง

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 Sakid ได้ออกบูธประชาสัมพันธ์แอพสะกิดให้กับการไฟฟ้านครหลวงในงาน Sports Day ที่สนามกีฬาจุฬา โดยทีมงานมีแนะนำการเข้าร่วมโครงการ  “MEA เบิร์นเกินร้อย” เปิดศึกการแข่งกันระหว่างทีมเพิ่มการเผาผลาญแคลอรี ด้วยการส่งภารกิจสุขภาพผ่านแอพสะกิด และลุ้นรับของรางวัลในแต่ละเดือน

อ่านต่อ »
template -healthy canteen-SAKID

WORKSHOP Healthy Canteen สำหรับแม่ครัว พ่อครัว

กิจกรรม Healthy Canteen สำหรับแม่ครัว พ่อครัว
กิจกรรม Healthy Canteen สำหรับแม่ครัว พ่อครัว ที่บริษัท TBC โดยจะมีกิจกรรมการอบรมการเลือกใช้เครื่องปรุง น้ำมัน ผัก และสมุนไพร ในการปรับสูตรอาหารให้สุขภาพดีขึ้นและยังคงกินได้อย่างอร่อยถูกปาก การสนับสนุนให้พ่อครัวแม่ครัวทำอาหารทางเลือกสุขภาพเพื่อเปิดโอกาสทางเลือกของผู้ซื้ออาหารให้มีตัวเลือกอาหารสุขภาพที่หลากหลายมากขึ้น การให้ความรู้เรื่องพลังงานและสารอาหาร การตักอาหารข้าวราดแกงขายให้พนักงานในสัดส่วนที่ถูกต้องเพื่อลดการเกิดโรค NCDs การอบรมเรื่องผู้สัมผัสอาหารการจัดเก็บวัตถุดิบ การล้างผัก การปรุงอาหารให้ถูกต้องตามหลักอนามัย และเรื่องความสะอาดสุขอนามัยของผู้ทำอาหาร

อ่านต่อ »
our workshop success-Fatty Model-SAKID

แข่งขันลดน้ำหนักด้วย SAKID กับโครงการ MEA Fatty Model

จบไปแล้วสำหรับกิจกรรม MEA Fatty Model ที่แข่งขันลดน้ำหนักกับ SAKID application ตลอดระยะเวลา เม.ย. – ส.ค. 67 โดยคัดเลือกจากผู้ที่มีความเสี่ยงสูงคือดัชนีมวลกาย ≥25 kg/m2 มีการออกแบบภารกิจสุขภาพทั้งลดไขมัน เพิ่มผักใย และออกกำลังกายให้เหมาะสม พร้อมด้วยโค้ชนักกำหนดอาหารวิชาชีพดูแลเป็นรายบุคคลในการปรับการกิน จนทำให้การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก มวลไขมัน และไขมันในช่องท้องลดลง เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

อ่านต่อ »
Cover-Workshop-เตรียมตัว เตรียมตังค์ก่อนเข้าสู่วัยอิสระ

Workshop “เตรียมตัว เตรียมตังค์ก่อนเข้าสู่วัยอิสระ”

กิจกรรม Workshop “เตรียมตัว เตรียมตังค์ก่อนเข้าสู่วัยอิสระ”

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 Sakid ได้จัดกิจกรรม Workshop “เตรียมตัว เตรียมตังค์ก่อนเข้าสู่วัยอิสระ”  ให้กับบริษัทเอสพี อินเตอร์แมค, รพ.กรุงเทพสิริโรจน์ และการไฟฟ้านครหลวง  โดยวิทยากรนักวางแผนการเงิน คุณจิญาดา พฤกษาชลวิทย์ภายในงานผู้เข้าร่วมได้รับวิธีการวางแผนทางการเงินก่อนถึงวัยเกษียณ และได้ทดลองวางแผนสำหรับตัวเองให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์อีกด้วย

อ่านต่อ »
Sakid thumbnail well-SAKID

Well-Being กลยุทธ์สร้างสุขภาวะที่ดีให้กับพนักงาน

ทุกธุรกิจ ทุกองค์กร มีการจัดการคนทำงานในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ถ้าวันนี้ลองสังเกตดูว่า พนักงานของเรา ยังมีความสุขในการทำงานหรือไม่ การทำงานของแต่ละคนมีประสิทธิภาพที่ตอบโจทย์องค์กรมากแค่ไหน และคุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้นทุกด้านรึเปล่า หากผู้นำหรือผู้บริหารสามารถมองจุดนี้ได้ ธุรกิจก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน

อ่านต่อ »
จัดประชุมอย่างไรให้ดีต่อกายใจ-SAKID

จัดประชุมอย่างไรให้ดีต่อกายใจ

การนั่งประชุมต่อเนื่องเป็นเวลานานถือเป็นพฤติกรรมเนือยนิ่ง ส่งเสริมให้เกิดโรค NCDs การสร้างวัฒนธรรมการประชุมที่มีองค์ประกอบการประชุมที่่ส่งเสริมสุขภาพย่อมมีส่วนส่งเสริมวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพในสถานที่ทำงาน ช่วยให้คนวัยทำงานมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี อีกทั้งยังได้ผลลัพธ์การประชุมที่มีประสิทธิภาพ

อ่านต่อ »