
จัดคลาสออกกำลังกายอย่างไรให้โดนใจคนที่ทำงาน
- 25/09/23
เมื่อคนใช้เวลากว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในที่ทำงานจดจ่ออยู่กับการทำงาน เวลาพักน้อย การจะขยับตัวเพิ่มกิจกรรมทางกายระหว่างวันก็เป็นไปได้ยากเพราะไม่อาจละจากงานตรงหน้าได้ ด้วยปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น การจะออกกำลังกายให้ได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลกยิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของพนักงานและเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
การทำให้เกิดสุขภาพดีในที่ทำงานโดยการส่งเสริมการออกกำลังกายมีความสำคัญ ที่จะทำให้พนักงานมีพฤติกรรมการออกกำลังกายที่ถูกต้องและต่อเนื่องส่งผลให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยบริษัทหรือสถานที่ทำงานสามารถมีบทบาทและกำหนดแนวทางในการช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการดูแลสุขภาพของ พนักงานให้สอดคล้องกับบริบทและพฤติกรรมการออกกำลังกายของพนักงาน เพื่อทำให้การออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิตแต่การจะขับเคลื่อนคนในองค์กรให้ออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงานเองกลับกลายเป็นเรื่องยากและท้าทาย สำหรับ HR ไม่ใช่น้อย
หากคุณได้รับมอบหมายให้จัดกิจกรรมออกกำลังกายและกำลังคิดว่าจะจัดในรูปแบบใดให้ถูกใจ ทำอย่างไรให้พนักงานเข้าใช้ บทความนี้จะช่วยให้แนวทางกับคุณ
รูปแบบการจัดกิจกรรมออกกำลังกาย
รูปแบบกิจกรรมออกกำลังกายสำหรับพนักงานในสถานที่ทำงานนั้นจะเน้นไปที่การเข้าถึงบริการสุขภาพและการออกกำลังกายได้ง่าย โดยจัดสรรค์ได้หลากหลายรูปแบบ ดังนี้
1.การจัดสรรค์สวัสดิการที่ส่งเสริมแรงกระตุ้น เช่น เปิดให้ใช้บริการฟิตเนส สนามกีฬาฟรี การตรวจประเมินสุขภาพที่นอกเหนือจากการตรวจสุขภาพประจำปี เช่น การประเมินสมรรถภาพทางกายด้านหัวใจและการหายใจ ด้านกล้ามเนื้อ ด้านความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เป็นต้น
2.การจัดสรรค์พื้นที่ที่เอื้อต่อการออกกำลังกาย เช่น จัดทำห้องฟิตเนสของบริษัท สนามฟุตบอล สนามแบดมินตัน สนามบาสเกตบอล หรือจัดมุมออกกำลังกายในแผนก เป็นต้น
3.การจัดกิจกรรมส่งเสริมให้พนักงานได้ใช้เวลาร่วมกัน
– จัดการออกกำลังกายแบบกลุ่มที่เป็นที่นิยม เช่น โยคะ คลาสเต้น Crossfit หรือการออกกำลังกายแบบหนักสลับเบา (HIIT;High Intensity Interval Training) หรือ Pilates คลาสศิลปะการป้องกันตัวรูปแบบต่าง ๆ เช่น Body combat
– จัดโครงการหรือกิจกรรมที่ให้พนักงานได้ร่วมแข่งขัน เช่น โครงการเดินสะสมก้าว งานวิ่ง
– จัดตั้งชมรมกีฬา เช่น ชมรมวิ่ง ชมรมแบดมินตัน ชมรมโยคะ ที่พนักงานสามารถใช้เวลาร่วมกันได้นอกเหนือจากการทำงาน
4.การสื่อสารสุขภาพ เป็นการให้ข้อมูล ความรู้ จูงใจ ให้พนักงานในสถานประกอบการตระหนักต่อความสำคัญของสุขภาพ โดยพยายามสอดแทรกแนวทางเพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น เช่น
– ส่งเสริมการใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์
– ส่งเสริมให้มีเวลาหยุดพักเป็นช่วงๆ ระหว่างทำงาน เพิ่มโอกาสในการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อบรรเทาอาการเมื่อยล้า พักสายตา พักสมอง ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า
– ส่งเสริมการเดิน เช่น เดินไปคุยงานไป เดินไปส่งเอกสารด้วยตัวเอง การเดินไปกินข้าวเที่ยง จอดรถไกลจากแผนกเพื่อจะเพิ่มก้าวเดิน เป็นต้น
– สนับสนุนให้ใช้โต๊ะที่ปรับระดับได้ ปรับเปลี่ยนอิริยาบถให้สามารถยืนหรือนั่งทำงานก็ได้
หลายองค์กรในประเทศไทยให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมออกกำลังกายในที่ทำงาน อย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย มีสวัสดิการสมาชิกฟิตเนสให้กับพนักงานปัจจุบันและพนักงานเกษียณรวมถึงครอบครัวของพนักงานสามารถใช้บริการฟิตเนส ของธนาคารแห่งประเทศไทย อีกทั้งยังจัดสรรค์พื้นที่สำหรับการเล่นกีฬา เช่น สนามบาสเกตบอล สนามฟุตบอล มีชมรมโยคะที่จัดคลาสโยคะเป็นประจำทุกวัน
บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช เปลี่ยนพื้นที่ว่างในบริษัทให้เป็นสนามกีฬาที่สามารถเล่นฟุตบอล หรือจัดกิจกรรมอื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีคลาสออกกำลังกายให้กับพนักงานโดยจัดให้มีเทรนเนอร์เข้าไปสอน จัดโครงการเดินส่งเสริมกิจกรรมทางกายและตรวจประเมินสมรรถภาพทางกายเป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกับบริษัทเอไอเอ เปลี่ยนพื้นดาดฟ้าอาคารเป็นลู่วิ่ง และมีสวัสดิการฟิตเนสให้บริการพนักงานโดยมีเทรนเนอร์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำในการออกกำลังกาย
เลือกกิจกรรมออกกำลังกายแบบไหนดี
การเลือกกิจกรรมออกกำลังกายสำหรับพนักงานในสถานที่ทำงานควรอ้างอิงจากข้อมูลพฤติกรรมการออกกำลังกาย ของคนซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์ในทุก ๆ ปี บริบทที่ทำงานเป็นอย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้นควรมาจากความต้องการของพนักงานเป็นหลักซึ่งขึ้นอยู่กับว่าพนักงานของคุณกลุ่มอายุเท่าไหร่ โดยเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ได้แก่ การมีส่วนร่วมในการกำหนดปัญหาและความต้องการ เช่น ร่วมกันค้นหาสาเหตุ เสนอแนะความต้องการ การมีส่วนร่วมในการวางแผน ร่วมกันคิดและตัดสินใจแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเอื้อประโยชน์ต่อพนักงานโดยส่วนรวม
ขั้นตอนการจัดกิจกรรมออกกำลังกาย
เมื่อได้กิจกรรมออกกำลังกายที่เหมาะสมกับองค์กรแล้ว ถัดไปก็ถึงขั้นตอนของการจัดกิจกรรมว่ามีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง แล้วจะเริ่มได้อย่างไร ดังนี้
1.ผู้บริหารกำหนดนโยบายและประกาศให้พนักงานทุกคนรับทราบ เพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของกิจกรรมออกกำลังกาย ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพของทุกคน
2.แต่งตั้งคณะทำงาน โดยกำหนดบทบาทหน้าที่ให้มีความชัดเจน มีการสำรวจ การรวบรวมข้อมูลเหตุผลและแรงจูงใจที่คนตัดสินใจออกกำลังกายรวมถึงรูปแบบและประเภทการออกกำลังกายที่คนนิยม วิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยที่เป็นปัญหาและสาเหตุที่เป็นอุปสรรคในการออกกำลังกายของพนักงาน เพื่อนำมาวิเคราะห์สรุปเป็นประเด็นของปัญหาและวางแผนงาน/โครงการต่อไป
3.นำผลการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมการออกกำลังกายของพนักงานมากำหนด/ออกแบบกิจกรรม โดยยึดหลัก
– กระตุ้นแรงจูงใจทั้งภายในและภายนอก รูปแบบกิจกรรมต้องสนุก มีความท้าทายในระดับที่เหมาะสมกับเพศและอายุของผู้เข้าร่วม ส่วนแรงจูงใจภายนอกเกี่ยวข้องกับความอยาก อยากหุ่นดี อยากลดน้ำหนัก อยากหายจากโรค หรือการได้เข้าร่วมคลาสมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นรูปแบบของกิจกรรมก็อาจจะต่างออกไป
– ให้รางวัลเพื่อเพิ่มความต่อเนื่องของการออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการให้รางวัลเป็นของที่มีมูลค่าสูง เพราะพนักงานจะทำเฉพาะตอนที่อยู่ในช่วงระยะเวลาโครงการ
4.ขอคำปรึกษาจากบุคลากร เทรนเนอร์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายเพื่อให้ดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการ
5.สื่อสารกับพนักงานโดยการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อแจ้งให้กับพนักงานทราบว่าบริษัทจะมีการจัดกิจกรรมอะไร เพื่ออะไร หากเข้าร่วมแล้วได้อะไร
โปรโมตอย่างไรให้พนักงานเข้าใช้
แนวทางการสื่อสารกับพนักงานในสถานที่ทำงานนั้นควรจัดการสื่อสารให้มีความหลากหลาย เนื่องจากแต่ละแผนกมีเงื่อนไขในการเข้าถึงสื่อและเนื้อหาที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นเนื้อหาของสื่อควรมีความถูกต้อง ต่อเนื่องและเป็นระบบ อยู่ในรูปแบบที่เข้าถึงได้ของกลุ่มเป้าหมาย มีความชัดเจนของประเด็นที่จะสื่อ ก้าวทันต่อเวลาหรือสถานการณ์ปัญหาและความต้องการของพนักงาน เช่น
– จัดกิจรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
– ใช้การสื่อสารทุกรูปแบบในการกระจายข้อมูลข่าวสารให้พนักงานได้ทราบ เช่น ไลน์ เฟสบุ๊ค อีเมลล์
– จัดกิจกรรมรณรงค์การออกกำลังกาย
– กำหนดเป็นวาระสำคัญหรือวันสำคัญที่พนักงานทุกระดับต้องปฏิบัติโดยทำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ
– จัดทำมุมออกกำลังกาย ติดตั้งสื่อสุขภาพหรือภาพโปรโมทสร้างแรงกระตุ้น แรงจูงใจ
– จัดโปรโมชั่นหรือสิทธิพิเศษสำหรับพนักงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการหรือเข้าใช้ เช่น ส่วนลดค่าอาหาร ได้รับของที่ระลึก/เหรียญรางวัล/เกียรติบัตรจากผู้บริหารโดยตรง คูปองส่วนลด เป็นต้น
ประโยชน์การจัดกิจกรรมออกกำลังกายในที่ทำงาน
ประโยชน์ต่อพนักงาน
สิ่งที่จะได้รับจากการออกกำลังกายอันดับแรกแบบเห็นได้ชัดก็คือสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น ตัวอย่างเช่น
– เสริมสร้างความแข็งแรงของระบบไหลเวียนเลือด ระบบหายใจ กล้ามเนื้อ กระดูก รวมถึงความยืดหยุ่นของร่างกาย
– ลดโอกาสป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
– มีความกระตือรือร้น ลดความเครียดและภาวะซึมเศร้า
ประโยชน์ต่อบริษัทหรือองค์กร
การจัดกิจกรรมออกกำลังกายในที่ทำงาน ไม่ได้ประโยชน์เฉพาะด้านสุขภาพแก่พนักงานเท่านั้น แต่เมื่อพนักงานมีสุขภาพที่ดี มีความพร้อมในการทำงาน ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานด้วย
– การออกกำลังกายที่ระดับความหนักปานกลาง เช่น การเดินเร็ว จ็อกกิ้ง เต้น อย่างน้อย 10 นาทีขึ้นไปช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการไหลเวียนเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นำสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ช่วยให้พนักงานมีสมาธิ ส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิผลของงาน อีกทั้งยังส่งเสริมให้พนักงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จากผลการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Occupational and Environmental Medicine พบว่าคนทำงานที่มีกิจกรรมออกกำลังกายระดับปานกลางเป็นประจำสามารถสร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพและปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนเองได้เป็นอย่างดีกว่าคนทำงานที่ไม่ออกกำลังกายเลย
– ในระหว่างออกกำลังกายร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข นั่นคือ ฮอร์โมนเอนโดรฟิน ลดการหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดหรือคอติซอล ซึ่งผลของการหลั่งฮอร์โมนนี้ช่วยในเรื่องผ่อนคลายความเครียด จากผลการสำรวจพบว่าในแต่ละวันคนทำงานกว่า 70% ต้องเผชิญกับความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การจัดการกับความเครียดเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลการทำงานให้กับบริษัท
– จากการศึกษาพบกว่าการออกกำลังกายแบบ Cardiovascular หรือการออกกำลังกายเพื่อพัฒนาสมรรถภาพหัวใจและปอด การออกกำลังกายแบบมีแรงต้านหรือเวท เทรนนิ่ง นั้นช่วยส่งเสริมให้พนักงานมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่วยลดความทุกข์ทางจิตใจ ความเครียด ความอ่อนล้าทางอารมณ์ เพราะการใช้เวลาออกกำลังกายเพียงไม่กี่นาทีเป็นการพาตัวเองออกจากสถานการณ์ในที่ทำงานและการออกกำลังกายนี้ยังเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยเยียวยาภาวะหมดไฟได้
– Group exercise ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ของคนในที่ทำงาน คนจากต่างแผนกมาออกกำลังกายในคลาสเดียวกัน ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานร่วมกัน
– ลดอัตราการลาออกของพนักงาน หากคนได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี ย่อมไม่อยากเปลี่ยนที่ทำงานใหม่
– ลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของพนักงาน
การวัดและประเมินผลการจัดกิจกรรมออกกำลังกายในที่ทำงาน
ถึงแม้การจัดกิจกรรมออกกำลังกายในที่ทำงาน ผลเห็นชัดแล้วว่ามีประโยชน์มากมาย แต่ในการจัดกิจกรรมเพื่อให้เห็นผลที่ชัดเจนขึ้นก็จำเป็นที่ต้องมีการประเมินผลว่ากิจกรรมมีผลลัพธ์เป็นอย่างไร สำหรับการติดตามผลลัพธ์ สามารถติดตามได้จากตัวชี้วัดเหล่านี้
1.วัดจำนวนคนเข้าใช้บริการ โดยใช้วิธีการลงทะเบียนเพื่อเก็บเป็นข้อมูลสถิติสำหรับนำไปวิเคราะห์
2.วัดผลการเข้าร่วมกิจกรรม จากการลงทะเบียน และแบบประเมินความพึงพอใจ ข้อเสนอแนะของผู้ใช้บริการเพื่อนำมาปรับปรุงการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป
3.วัดผลการตรวจสุขภาพหรือผลการประเมินสมรรถภาพทางกาย เป็นวิธีการวัดผลที่น่าเชื่อถือและสามารถนำผลไปรายงานกับผู้บริหารได้ เป็นข้อมูลเฉพาะบุคคลที่สามารถบอกได้ทันทีว่าการออกกำลังกายส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัดทางด้านสุขภาพไปในทางที่ดีแค่ไหนอย่างไร
แนวทางการจัดกิจกรรมออกกำลังกายในที่ทำงานสามารถมีรูปแบบกิจกรรมได้หลากหลาย และควรให้ตรงกับความต้องการของพนักงานในองค์กร เพื่อให้พนักงานได้เข้ามาทำกิจกรรมกัน แล้วถ้าหากอยากรู้ว่าพนักงานร่วมกิจกรรมมากน้อยเท่าใด สามารถให้ Sakid application ช่วยติดตามได้ โดยเรามีภารกิจออกกำลังกายให้เข้าร่วม หรือจะให้ Sakid ช่วยจัดแข่งขันการออกกำลังกายให้สนุกยิ่งขึ้น ด้วยการแข่งขันกีฬาสีบนมือถือ
แหล่งอ้างอิง
1.Energym. (23 Jul 2021) What are the Benefits of Exercise in the Workplace?. https://energym.io/blogs/news/benefits-of-exercise-in-the-workplace
2.Rachel, B., Einar T. (2015). Reducing workplace burnout: the relative benefits of cardiovascular and resistance exercise. PeerJ 3: e891.
3.NBASPORTMANAGEMENT. ทำความเข้าใจพฤติกรรมการออกกำลังกาย สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องรู้!.
https://www.nbasport.co.th/blog/understand-exercise-behavior-for-fitness-business
4.Prasit, K., Yuvadee R., Boontham K., Anamai T. (2017) THE MANAGEMENT GUIDELINES FOR PROMOTING PHYSICAL EXERCISE FOR EMPLOYEES IN THE WORKPLACES. Phranakhon Rajabhat Research Journal (Science and Technology) Vol.12 No.1.
บทความที่น่าสนใจ

Ergonomics คืออะไร รู้จักกับการยศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีในการทำงาน
ออฟฟิศไหนกำลังประสบปัญหาปวดหลังกันทั้งออฟฟิศโปรดมาทางนี้! ชวนมาทำความรู้จัก Ergonomics หรือ การยศาสตร์ ศาสตร์แห่งการทำงานที่ช่วยให้พนักงานมีสุขภาพดีด้วย…

รวม 5 หลักการปรับ “ท่านั่งทํางานที่ถูกต้อง” ลดออฟฟิศซินโดรม
ท่านั่งทำงานที่ถูกต้อง ต้องนั่งยังไง? นั่งแบบไหนให้ไกลออฟฟิศซินโดรม? แนะนำ 5 หลักการที่ต้องปรับท่านั่งทำงานที่ถูกต้อง พร้อมวิธีเลือกเก้าอี้และโต๊ะถูกหลัก Ergonomics

10 โรคจากการทำงาน ที่ HR สามารถช่วยป้องกันได้
เพราะพนักงงานคือคนสำคัญที่องค์กรต้องคอยดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ชวนไปดู 10 โรคที่เกิดจากการทำงาน และวิธีการที่แต่ละองค์กรสามารถป้องกันโรคภัยให้กับพนักงานได้

WORKSHOP Healthy Canteen สำหรับแม่ครัว พ่อครัว
กิจกรรม Healthy Canteen สำหรับแม่ครัว พ่อครัว
กิจกรรม Healthy Canteen สำหรับแม่ครัว พ่อครัว ที่บริษัท TBC โดยจะมีกิจกรรมการอบรมการเลือกใช้เครื่องปรุง น้ำมัน ผัก และสมุนไพร ในการปรับสูตรอาหารให้สุขภาพดีขึ้นและยังคงกินได้อย่างอร่อยถูกปาก การสนับสนุนให้พ่อครัวแม่ครัวทำอาหารทางเลือกสุขภาพเพื่อเปิดโอกาสทางเลือกของผู้ซื้ออาหารให้มีตัวเลือกอาหารสุขภาพที่หลากหลายมากขึ้น การให้ความรู้เรื่องพลังงานและสารอาหาร การตักอาหารข้าวราดแกงขายให้พนักงานในสัดส่วนที่ถูกต้องเพื่อลดการเกิดโรค NCDs การอบรมเรื่องผู้สัมผัสอาหารการจัดเก็บวัตถุดิบ การล้างผัก การปรุงอาหารให้ถูกต้องตามหลักอนามัย และเรื่องความสะอาดสุขอนามัยของผู้ทำอาหาร

สูตรลับสวัสดิการ ทุกบริษัททำได้ เพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานคนเก่ง
คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมบริษัทชั้นนำหลายแห่งจึงให้ความสำคัญกับสวัสดิการพนักงานเป็นอย่างมาก? ความจริงก็คือ สวัสดิการที่ดีไม่เพียงแต่ช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตโดยรวมขององค์กรอีกด้วย การลงทุนในความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานส่งผลโดยตรงต่อผลกำไรของบริษัท จากการลดต้นทุนด้านสุขภาพ เพิ่มความพึงพอใจในการทำงาน และส่งเสริมความผูกพันของพนักงาน

WORKSHOP ONLINE Supermarket tour กับ นักกำหนดอาหาร
กิจกรรม “Supermarket Tour”
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 SAKID ได้จัดกิจกรรม Workshop “Supermarket Tour” ให้กับบริษัทเอสพี อินเตอร์แมค โดย นักกำหนดอาหารได้ให้ทิคการอ่านฉลากแบบง่าย การเลือกซื้อวัตถุดิบ และอาหารสด จากตลาด ร้านค้าทั่วไป และ ร้านสะดวกซื้อ