
55 กับเงินใช้หลังเกษียณ สำหรับพนักงานบริษัท
- 16/05/24
“สายไปหรือเปล่า หนึ่งคำถามที่ดังในใจ ถ้าในวันนั้นเราทำแบบนั้น มาในวันนี้จะเป็นอย่างไร… สายไปหรือเปล่า กี่ทีแล้วที่ต้องเสียดาย รู้อย่างนี้จะทำอย่างนั้น รู้อย่างนั้นจะไม่ปล่อยไป…”
มีใครเคยดูซีรีส์ไทยเรื่องแรกที่เผยแพร่ทาง Disney+ Hotstar อย่าง 55:15 Never Too Late กำลังเข้มข้นเลยนะครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของเพื่อนชาย-หญิง 5 คน ในวัย 55 ปี ที่ถูกย้อนเวลาไปเติมเต็มความฝันในวัย 15 ปี สำหรับการวางแผนการเงินนั้น อายุ 55 ปี ก็ถือเป็นหมุดหมายสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นวัยที่หลายคนวาดฝันว่าจะเกษียณจากการทำงาน โดยจะมีสิทธิได้รับเงินจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อใช้หลังเกษียณ ซึ่งหากปฏิบัติถูกเงื่อนไข ก็จะได้รับยกเว้นภาษีอีกด้วย ตามผมไปดูกันเลยครับว่ามีอะไรบ้าง…
ประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจากกองทุนประกันสังคม
เมื่อคุณสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 และมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนเป็นเงินบำเหน็จชราภาพหรือเงินบำนาญชราภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการส่งเงินสมทบ แต่จะไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานอีก
• หากส่งเงินสมทบไม่ถึง 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตน
• หากส่งเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมทบทั้งส่วนของผู้ประกันตนและส่วนของนายจ้าง พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปี
• หากส่งเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ในอัตราเดือนละ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย โดยเพิ่มอีก 5% ต่อทุก 12 เดือนที่ส่งเงินสมทบเกิน 180 เดือน และไม่ต่ำกว่า 720 บาท
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบบำนาญชราภาพใน 3 ประเด็น คือ “ขอเลือก” ให้ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ สามารถเลือกรับเงินบำเหน็จชราภาพแทนได้ “ขอคืน” ให้ผู้ประกันตนสามารถขอรับเงินกรณีชราภาพบางส่วนคืนก่อนเกษียณอายุ และ “ขอกู้” ให้ผู้ประกันตนนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันกู้เงินธนาคารได้ รวมถึงขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีภาพเป็น 60 ปีบริบูรณ์
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
เมื่อคุณออกจากงานโดยมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิก PVD ไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินที่ได้รับจาก PVD จะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน ทั้งนี้ ข้อบังคับกองทุนอาจกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิขอรับเงินเป็นงวดได้ ส่วนกรณีที่ออกจากงานก่อนหน้านั้น มีทางเลือก 2 ทางที่จะได้รับยกเว้นภาษีจากเงิน PVD เช่นเดียวกัน คือ
1. ขอคงเงินไว้ใน PVD ทั้งจำนวน และคงการเป็นสมาชิกต่อไป แต่จะไม่มีการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบอีก แล้วขอรับเงินเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี
2.ขอโอนเงินไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF for PVD) แล้วขายหน่วยลงทุนใน RMF for PVD เมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และมีระยะเวลาการเป็นสมาชิก PVD รวมกับระยะเวลาถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี
อย่างไรก็ตาม การโอนเงินไปยัง RMF for PVD จะไม่ถือว่าเป็นการซื้อหน่วยลงทุนใน RMF จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากค่าซื้อหน่วยลงทุนแต่อย่างใด
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
เมื่อคุณมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และได้ซื้อหน่วยลงทุนใน RMF ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับเฉพาะปีที่ลงทุน) จะได้รับสิทธิ 2 ประการ คือ
1.สามารถหยุดซื้อหน่วยลงทุน หรือจะซื้อหน่วยลงทุนต่อไปในปีใดปีหนึ่งก็ได้ โดยไม่มีเงื่อนไขที่ห้ามระงับการลงทุนเกิน 1 ปี
2.สามารถขายคืนหน่วยลงทุน โดยกำไรที่คำนวณจากเงินลงทุนที่ไม่เกินสิทธิซื้อของแต่ละปีจะได้รับยกเว้นภาษี
แต่ข้อที่ควรระวังก็คือ เมื่อขายคืนหน่วยลงทุนไปแล้ว ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ต่อมาหากต้องการซื้อใหม่ เงื่อนไขที่จะต้องซื้อต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี และไม่ระงับการลงทุนเกิน 1 ปี จะบังคับอีกครั้งกับการซื้อครั้งใหม่ โดยนับตั้งแต่วันที่เริ่มซื้อก้อนใหม่นี้ หากซื้อครบ 5 ปี จึงจะได้รับสิทธิ 2 ประการข้างต้นอีกครั้ง
ส่วนกรณีที่ซื้อหน่วยลงทุนมาไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ขายคืนก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะได้รับยกเว้นภาษีเฉพาะกำไรจากการขายคืน แต่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90/91 เพื่อคืนสิทธิประโยชน์จากค่าซื้อ RMF ที่เคยได้รับในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (สำหรับหน่วยลงทุนที่ซื้อก่อนเดือนมีนาคม 2551 จะไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับอายุเมื่อขายคืน)
รวมถึงกรณีที่ระงับการลงทุนเกิน 1 ปีติดต่อกัน ก็ต้องยื่นแบบเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน ถ้ายื่นแบบเพิ่มเติมภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข จะได้รับสิทธิ 2 ประการ คือ
(1) ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน (นับตั้งแต่เดือนเมษายนของปีถัดจากปีที่ใช้สิทธิลดหย่อนค่าซื้อ จนถึงเดือนที่ยื่นแบบเพิ่มเติม)
(2) หากไม่ได้เป็นการขายคืนหน่วยลงทุนทั้งหมด จะสามารถนับระยะเวลาถือหน่วยลงทุนต่อเนื่องกับช่วงก่อนปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้
แต่กรณีที่ขายคืนก่อนลงทุนครบ 5 ปี ถึงแม้ว่าอายุจะครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้วก็ตาม นอกจากต้องยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเพิ่มเติมดังกล่าวแล้ว ยังต้องนำกำไรไปรวมคำนวณภาษี (ภ.ง.ด. 90) สำหรับปีที่ขายคืนอีกด้วย โดยจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราขั้นบันได แต่ไม่ยกเว้น 150,000 บาทแรก (นั่นคือกำไร 300,000 บาทแรกจะถูกหักภาษี 5%)
ประกันชีวิตแบบบำนาญ
เป็นผลิตภัณฑ์อีกรูปแบบที่ให้รายได้ประจำภายหลังเกษียณ โดยอายุ 55 ปี เป็นอายุขั้นต่ำที่ประกันชีวิตแบบบำนาญจะสามารถเริ่มจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญแก่ผู้เอาประกัน แต่บางแบบประกันอาจเริ่มหลังจากนั้น เช่น เมื่ออายุ 60 หรือ 65 ปี โดยจ่ายไปจนถึงอายุ 85 ปี หรือสูงกว่านั้น ทั้งนี้ ผู้เอาประกันต้องชำระเบี้ยประกันครบถ้วนแล้วก่อนรับผลประโยชน์เงินบำนาญ ซึ่งอัตราเงินบำนาญที่จ่ายอาจคงที่ตลอดอายุกรมธรรม์ หรือจะเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดก็ได้ และบางแบบประกันก็มีการรับประกันจำนวนปีที่จ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญ เช่น 10 ปี 15 ปี หรือ 20 ปี สำหรับความคุ้มครองชีวิตของประกันชีวิตแบบบำนาญโดยทั่วไปเป็นดังนี้
• หากผู้เอาประกันเสียชีวิตก่อนรับผลประโยชน์เงินบำนาญ ผู้รับประโยชน์จะได้รับมูลค่าที่สูงกว่าระหว่าง (1) เบี้ยประกันหลักที่ชำระมาแล้วพร้อมส่วนเพิ่ม (ถ้ามี) หรือ (2) มูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ เหมือนเช่นประกันชีวิตแบบอื่น ๆ
• หากผู้เอาประกันเสียชีวิตในช่วงรับประกันการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญ (ถ้ามี) ผู้รับประโยชน์จะได้รับมูลค่าที่สูงกว่าระหว่าง (1) มูลค่าปัจจุบันของเงินบำนาญส่วนที่รับประกันที่ยังรับไม่ครบ หรือ (2) เบี้ยประกันหลักที่ชำระมาแล้ว หักด้วยเงินบำนาญที่ได้รับไปแล้ว
• หากผู้เอาประกันเสียชีวิตภายหลังช่วงรับประกันการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญ ผู้รับประโยชน์จะได้รับเบี้ยประกันหลักที่ชำระมาแล้ว หักด้วยเงินบำนาญที่ได้รับไปแล้ว (แต่ถ้าได้รับเงินบำนาญไปแล้วมากกว่าเบี้ยประกันที่ชำระ ก็จะไม่ได้รับเงินใด ๆ)
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัทอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ดังนั้น ผู้ที่สนใจทำประกันชีวิตแบบบำนาญ ควรสอบถามและศึกษารายละเอียดของผลิตภัณฑ์ให้เข้าใจนะครับ
เงินฝากประจำ
อาจเป็นช่องทางเก็บรักษาเงินสำหรับใช้หลังเกษียณให้ปลอดภัยที่หลายคนตั้งใจจะเลือกใช้นะครับ โดยเมื่อคุณมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และได้รับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีขึ้นไป รวมทุกธนาคาร ทุกบัญชี ไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษี ดอกเบี้ยดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษี แต่ถ้าได้รับดอกเบี้ยเกินจำนวนดังกล่าวจะต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก ส่วนกรณีที่คู่สามีภรรยาฝากเงินร่วมกันและไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของฝ่ายละเท่าใด จะถือว่าดอกเบี้ยที่ได้รับเป็นเงินได้ฝ่ายละครึ่งหนึ่ง
การย้อนวัยเหมือนในซีรีส์ 55:15 Never Too Late อาจเป็นความฝันของใครหลายคน แต่ชีวิตจริง ในวันที่เลข 55 มาเยือน เราคงไม่สามารถกลับไปแก้ไขอดีตได้ การเก็บเงินเพื่อการเกษียณก็เช่นกัน ดังนั้น เริ่มวางแผนเสียตั้งแต่ตอนนี้ ผมเชื่อว่า “ไม่มีคำว่าสาย ในพจนานุกรมของเรา… It’s never too late” แน่นอนครับ ส่วนองค์กรไหนสนใจ Workshop การเงิน ที่จะให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารเงินอย่างง่าย สามารถให้ SAKID ช่วยดูแลได้ทางเรามีวิทยากรเฉพาะทางไม่ว่าจะเป็น นักกำหนดอาหาร นักจิตวิทยา นักกายภาพ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา และนักการเงิน นอกจากสุขภาพเงินสำคัญแล้วสุขภาพใจก็สำคัญไม่แพ้กัน
ขอขอบคุณบทความดีๆ จากพาร์ทเนอร์ SiamWealthManagement
บทความที่น่าสนใจ

5 หนังสือจิตวิทยา ปลุกพลังความก้าวหน้าในอาชีพ ที่ต้องมีติดโต๊ะทำงาน
หากคุณเป็นพนักงานออฟฟิศหรือผู้ที่ทำงานในองค์กร ที่รู้สึกติดอยู่ในวังวนเดิม ๆ ไม่มีความก้าวหน้าหรือความสุขในการทำงาน และต้องการหาแรงบันดาลใจเพื่อพัฒนาตนเองให้ทำงานได้อย่างมีความสุขและประสิทธิภาพมากขึ้น บทความนี้มีหนังสือจิตวิทยาดีๆ 5 เล่มจากผู้เชี่ยวชาญ ที่จะช่วยปลุกพลังและเสริมสร้างศักยภาพในการทำงานของคุณ ไม่ว่าคุณจะเป็นมือใหม่หรือมืออาชีพ หนังสือเหล่านี้จะช่วยให้คุณค้นพบตัวเอง ปลดล็อกความคิด และปรับมุมมองใหม่ในการทำงานและการใช้ชีวิต

Healthy Workshop
กิจกรรม “Healthy Workshop”
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 SAKID ได้จัดกิจกรรม Workshop “Healthy Workshop” ให้กับบริษัท ราชบุรีกล๊าส โดยนักกำหนดอาหาร ได้ให้ความรู้เรื่องการกินอย่างไรให้ห่างไกลโรคแบบรอบด้าน ที่ช่วยสามารถปรับพฤษติกรรมการกินอาหารในชีวิตประจำวันให้ดูสุขภาพดีขึ้นได้อย่างง่าย และ ช่วงบ่าย มีนักวิทยาศาสตร์การกีฬา มาตรวจสมรรถภาพทางร่างกาย ได้ให้ความรู้เรื่องการออกกำลังกายที่ใช้เวลาน้อยในระหว่างพักเบรค เพื่อยืดกล้ามเนื้อและเผาผลาญกัน

WFH ในหน้าร้อนอย่างไร สบายกายและกระเป๋า
สภาวะฝุ่นPM 2.5 ซึ่งเป็นสถานการณ์วิกฤติมลพิษทางอากาศที่หลายพื้นที่ในประเทศไทยกำลังเผชิญมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่วัดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) สูงถึง 372 ณ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2566 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับอันตรายมีผลกระทบต่อสุขภาพ จังหวัดเชียงใหม่จึงกลายเป็นเมืองที่มีอากาศแย่อันดับหนึ่งของโลก จนผู้ว่าฯต้องออกประกาศขอความร่วมมือทุกหน่วยงาน Work from Home

5 วิธีเพิ่มก้าวสำหรับพนักงานออฟฟิศ
สำหรับชาวออฟฟิศที่นั่งทำงานนาน ๆ อยู่แต่กับหน้าจอคอมทำงานไม่ว่าด้วยเหตุผลตารางงานที่แน่นหรือทำงานจนเพลินจนไม่ลุกไปไหน พนักงานจำนวนมากมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันในการนั่งทำงานโดยไม่ลุกเดินหรือยืดเส้นยืดสายอย่างเพียงพอ พฤติกรรมเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องปกติในสังคมปัจจุบัน แต่แท้จริงแล้วกลับสร้างผลกระทบทางสุขภาพอย่างเงียบๆทำให้เกิดผลที่ตามมาทั้งออฟฟิศซินโดม และการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะต่างๆในร่างกาย

WORKSHOP ONLINE Supermarket tour กับ นักกำหนดอาหาร
กิจกรรม “Supermarket Tour”
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 SAKID ได้จัดกิจกรรม Workshop “Supermarket Tour” ให้กับบริษัทเอสพี อินเตอร์แมค โดย นักกำหนดอาหารได้ให้ทิคการอ่านฉลากแบบง่าย การเลือกซื้อวัตถุดิบ และอาหารสด จากตลาด ร้านค้าทั่วไป และ ร้านสะดวกซื้อ

ทำอย่างไร เมื่อคนในองค์กรเป็น Office syndrome
คุณเป็นอีกคนหนึ่งหรือเปล่าที่ตอนนี้กำลังมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดบ่า ปวดหัว นั่งทำงานสักพักก็รู้สึกตึงเมื่อย หากคุณคิดว่า นี่ไม่ใช่เพราะอายุเพียงอย่างเดียว แต่กำลังบ่งบอกว่าคุณมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็น Office syndrome โรคยอดฮิตที่หลายคนรู้จักแต่คงไม่อยากที่จะสนิทสนม