
มารู้จัก Healthy Organization องค์กรสุขภาพดี
- 24/10/23
รู้จักแนวคิด Healthy Organization
จากการสำรวจสุขภาพของประชากรไทยครั้งที่ 6 ซึ่งดำเนินการในปี 2562-2563 ซึ่งประเด็นในการสำรวจครอบคลุมในเรื่องพฤติกรรมสุขภาพ ภาวะโรคที่สามารถตรวจวัดพื้นฐาน ได้แก่ การวัดสัดส่วนร่างกาย ความดันโลหิต และการตรวจวัดน้ำตาล และไขมันในเลือด เป็นต้น โดยครอบคลุมทั้งในวัยทำงาน และผู้สูงอาย พบว่า ปัญหาอันดับต้นของสังคมในขณะนี้คือ โรคที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะภาวะอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงซึ่งมีผลต่ออุบัติการณ์โรคระบบหัวใจและหลอดเลือดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น เกิดภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการดูแลรักษา ในขณะที่ความสามารถในการทำงานก็ด้อยลงตามสภาพร่างกายส่งผลเสียเป็นวงกว้างทั้งแก่ตัวพนักงาน และองค์กร ดังนั้นมาตรการป้องกันและลดภาระโรคเหล่านี้จึงเป็นประเด็นสำคัญมาก
สำหรับคนวัยทำงานในองค์กรต้องใช้ชีวิตแต่ละวันในสภาพแวดล้อมในการทำงาน 5-7 วันต่อสัปดาห์ วันละ 8-10 ชั่วโมง หากยังใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ ด้วยความเคยชิน และอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดิม ๆ ก็ยากที่จะปรับเปลี่ยนตนเองให้มีสุขภาพดีขึ้นได้
เราจึงขอแนะนำ Healthy Organization หรือแนวทางเกี่ยวกับการสร้างองค์กรที่มีการวางระบบในการให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพแก่พนักงาน และส่งเสริมให้พนักงานนำความรู้นั้นไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน ควบคู่กับการจัดสภาพแวดล้อมในองค์กรให้เอื้ออำนวยต่อการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงาน เพื่อให้พนักงานมีสุขภาพดี และนำมาซึ่งประสิทธิภาพของการทำงาน ซึ่งดำเนินการโดยเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย
6 องค์ประกอบสำคัญ ดังนี้
1.Healthy Policy
เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด คือการกำหนดนโยบายสร้างเสริมสุขภาพให้กับพนักงานในองค์กร เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนและได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารเพื่อความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยผู้ที่กำหนด Healthy Policy อาจเป็น HR, จป., บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพพนักงานในองค์กร หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลเรื่องการจัดกิจโครงการสร้างเสริมสุขภาพ หรือกระทั่งผู้ที่สนใจและศึกษา Healthy Organization เริ่มต้นด้วยการเก็บวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาสุขภาพ พฤติกรรมการใช้ชีวิตของพนักงาน สำรวจความต้องการในการจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพนักงานที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ฯลฯ เพื่อเสนอร่าง Healthy Policy ให้ผู้บริหารกำหนดเป็นนโยบายสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพที่พบ ประกาศให้ทราบกันทั่วองค์กร และจัดตั้งคณะทำงานและแกนนำสุขภาพขององค์กรหรือหน่วยงาน (Health Leader) ซึ่งมีหน้าที่สื่อสารและกระตุ้นพนักงานองค์กรให้เข้าร่วมกิจกรรม อำนวยความสะดวกให้สามารถติดตามผลสุขภาพของตนเอง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติจริง สุดท้ายคือติดตาม ประเมินผล และรับฟังข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของพนักงานในองค์กร เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงนโยบายให้เหมาะสมตามความต้องการมากขึ้น
2.Healthy Workshop
หลังจากกำหนดนโยบายสร้างเสริมสุขภาพให้กับพนักงานในองค์กรแล้ว จำเป็นต้องถ่ายทอดความรู้ในการดูแลสุขภาพที่เชื่อถือได้ให้กับพนักงานให้ตรงกับปัญหา เป็นการนำข้อมูลปัญหาจากขั้นตอน Healthy Policy มาดำเนินการต่อ โดยมุ่งเน้นให้ทราบถึงวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดี ที่ปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งการจัดอบรมให้ความรู้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ Healthy Workshop แต่ยังไม่ใช่ทั้งหมด ต้องเกิดความตระหนักและแรงบันดาลใจที่จะดูแลสุขภาพตนเองต่อไป และมีการนำความรู้จากการอบรมไปปฏิบัติจริงด้วย อาจสร้างความตระหนักและความสนใจในการดูแลสุขภาพแก่พนักงานก่อน โดยการจัดมุมตรวจสุขภาพง่าย ๆ ที่พนักงานสามารถเข้าไปวัดองค์ประกอบร่างกาย ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน รอบเอวได้ ฯลฯ การจัด Workshop ให้ความรู้ควรครอบคลุม 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนปกติที่รักการดูแลสุขภาพ กลุ่มที่เริ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค และกลุ่มที่เกิดโรคแล้ว และสุดท้ายมีการติดตามประเมินผล วัดทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพและผลร่างกาย รวมถึงสมรรถภาพร่างกายของผู้เข้าร่วมอบรม
3.Healthy Canteen
หรือการปรับเปลี่ยนโรงอาหารให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี เช่น วิธีการปรุง หรือสัดส่วนอาหารตามหลักโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพให้พนักงานได้เลือกซื้อรับประทาน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของคณะผู้ทำงานและคณะผู้ดูแลโรงอาหาร ผู้ประกอบอาหาร รวมถึงพนักงานผู้ใช้บริการเอง โดยเปิดโอกาสให้หารือเรื่องแนวทางร่วมกัน ควรใช้วิธีปรับเปลี่ยนอาหารที่มีจำหน่ายอยู่ให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น อาจเริ่มต้นด้วยการมีเมนูที่ดีต่อสุขภาพร้านละ 1-2 เมนู มีการสำรวจวิเคราะห์เมนูอาหาร นำไปสู่การถ่ายทอดความรู้เรื่องการปรับอาหารให้กับผู้ประกอบอาหารเพื่อลดหวาน มัน เค็ม การเพิ่มผักผลไม้ในอาหารที่จำหน่าย การเลือกใช้น้ำมัน การใช้สมุนไพรแทนเครื่องปรุง ควรให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลโรงอาหารเข้าร่วมอบรมเพื่อรับทราบการจัดการในภาพรวม การจัดสวัสดิการผักสด หรือน้ำเปล่าให้แก่พนักงาน การจัดทำป้ายรณรงค์และสื่อความรู้ทางด้านโภชนาการ ฯลฯ สำหรับกรณีองค์กรที่ไม่มีโรงอาหาร อาจมีเพียงพื้นที่สำหรับรับประทานอาหารก็สามารถใช้ Healthy Canteen ได้เช่นกัน ทำได้โดยการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้เรื่องการสั่งอาหาร การเลือกอาหารและสร้างความตระหนักให้กับพนักงานเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จัดพื้นที่ในการรับประทานอาหารที่มีสื่อความรู้ การเตรียมสวัสดิการผัก น้ำเปล่า ข้าวไม่ขัดสี แก่ผู้มาใช้บริการพื้นที่รับประทานอาหาร ฯลฯ หลังจากจัดกิจกรรมแล้วควรมีการสำรวจความพึงพอใจทั้งผู้ประกอบอาหารและพนักงานผู้ใช้บริการ เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงโครงการ Healthy Canteen ต่อไป
4.Healthy Space
สำหรับการพัฒนาและการปรับพื้นที่ในองค์กรให้เอื้อต่อการเพิ่มกิจกรรมทางกาย และช่วยสานสัมพันธ์พนักงานด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม เริ่มโดยการสำรวจข้อมูลความต้องการของพนักงานและต้นทุนพื้นที่ ที่มีอยู่ว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง จากขั้นตอนของ Healthy Policy พื้นที่อาจหมายถึงพื้นที่ว่าง มุมว่างในอาคาร ลานกว้าง ลานจอดรถ หรือพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้งานบางช่วงเวลา บันได ฯลฯ จากนั้นจึงมีดำเนินการวางแผนการพัฒนาพื้นที่นั้นให้สอดคล้องกับพื้นที่และต้นทุนที่มีอยู่ให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมสุขภาวะใช้ในการออกกำลังกาย คลายเครียด ดัดแปลง สุดท้ายคือการสำรวจความพึงพอใจพื้นที่ปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและปรับปรุงให้ดียิ่งขึึ้น
5.Healthy Meeting
การประชุมทั่วไปที่ต้องนั่งนาน ทำให้ขยับตัวได้น้อย รวมถึงอาหารว่างประชุมที่มีพลังงาน ไขมัน และน้ำตาลสูง สามารถนำมาสู่ปัญหาทางสุขภาพได้ สำหรับ Healthy Meeting หรือการประชุมอย่างมีสุขภาพดี คือการปรับรูปแบบ, สถานที่, ห้องประชุม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถเพิ่มการขยับร่างกาย ในรูปแบบ Active Meeting อาจเป็นการเดิน/ยืนประชุม หรือจัดพื้นที่ประชุมให้มีอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มการขยับ ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง กำหนดระเบียบวาระการประชุมอย่างมีประสิทธิภาพมีความกระชับ มีการหยุดพักประชุมเพื่อยืดเหยียด หรือพักออกกำลังกาย หากมีการประชุมนาน รวมถึงปรับอาหารว่างให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น (Healthy Break) ตามหลักการ คุมพลังงาน เพิ่มใยอาหาร จัดโปรตีนใส่จาน ลดปริมาณน้ำตาลและเกลือ โดยกำหนดให้เป็นมาตรฐานการจัดประชุมขององค์กร และสำรวจความพึงพอใจรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อการปรับเปลี่ยนให้ปฏิบัติได้อย่างยั่งยืน
6.Healthy Tournament
เป็นการต่อยอดความรู้ด้านสุขภาพ ในรูปแบบกิจกรรมการแข่งขันให้เพื่อความสนุกสนานและสร้างเสริมสุขภาพระหว่างบุคคล เป็นทีม หรือหน่วยงานในองค์กร โดยเน้นในเรื่องการปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อให้มีสุขภาพ, สมรรถภาพร่างกายเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สามารถพัฒนาจากองค์ประกอบของ Healthy Organization และกำหนดกติกาให้คะแนนสุขภาพ หรือ Healthy Score เพื่อกระตุ้นการเข้าร่วมกิจกรรม เช่น การสะสมคะแนนจากการซื้อผักผลไม้ การสะสมคะแนนจากการใช้บันไดแทนลิฟท์ ฯลฯ หลังจัดการแข่งขันสะสมคะแนนสุขภาพ ควรมีการประเมินความพึงพอใจและสรุปข้อมูลการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพที่เกิดขึ้น
ประโยชน์จากการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็น “Healthy Organization”
-พนักงานในองค์กรมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การรับประทานผักและผลไม้มากขึ้น การเพิ่มการขยับร่างกาย หรือการออกกำลังกาย ส่งผลให้พนักงานในองค์กรสุขภาพดีขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และลดความรุนแรงเมื่อมีการติดเชื้อหรือโรคระบาดต่าง ๆ
-ลดวันลาป่วย, ลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้กับพนักงาน พนักงานมีสุขภาพดี ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
-เกิดความสามัคคีในการร่วมกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพระหว่างหน่วยงาน และระหว่างพนักงานกับผู้บริหาร
-CSR ดีขึ้น สร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กร ในการดูแลสุขภาพพนักงาน เป็นต้นแบบแก่องค์กรอื่น
-สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดในการสร้างเสริมสุขภาพให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ครอบครัว ชุมชน สังคม ฯลฯ
-สามารถนำแนวคิด Healthy Organization ไปปรับใช้ร่วมกับโครงการดูแลสุขภาพอื่นได้ เนื่องจาก Healthy Organization จะเน้นให้แนวทาง ตัวอย่าง เครื่องมืออำนวยความสะดวก วิธีการเก็บข้อมูลที่จะนำไปใช้วัดผลได้จริง และการจัดตั้งคณะทำงาน แกนนำสุขภาพ สามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริงร่วมกับโครงการอื่นได้
สามารถดูตัวอย่างแนวคิด Healthy Organization เพิ่มเติม หรือสมัครเข้าร่วมโครงการได้จาก http://healthy–org.com/content/about_project/89
จะเห็นได้ว่าการดำเนินการตามแนวทาง Healthy Organization ไม่ได้ประโยชน์ในแง่สุขภาพของพนักงานเพียงอย่างเดียว แต่ส่งผลถึงการเพิ่มประสิทธิผลการทำงาน และภาพลักษณ์ขององค์กรด้วย แล้วถ้าหากยังไม่รู้ว่าต้องเริ่มยังไง ให้ทาง Sakid ช่วยวางแผนกิจกรรมได้ เพราะเรามีทั้งการจัด Workshop ด้านสุขภาพ, การจัดแข่งขันสุขภาพผ่าน Sakid application และยังมีจัดทำโรงอาหารสุขภาพ ซึ่งตอบโจทย์ได้ทั้ง 6 องค์ประกอบของ Healthy Organization
บทความที่น่าสนใจ

WORKSHOP คลาสโยคะ
กิจกรรม Workshop “คลาสโยคะ”
ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 – 21 กันยายน 2566 SAKID ได้จัดกิจกรรม Workshop “คลาสโยคะ ” กันทุกสัปดาห์เป็นสวัสดิการที่เสริมสร้างร่างกายให้แข้งแรง โดยนักวิทยาศาสตร์การกีฬามาเป็นครูสอนโยคะที่จะพาพนักงานบริษัท ROCHE มายืดเหยียดร่างกายให้ผ่อนคลายเมื่อยจากการนั่งทำงานและเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้มีความยืดหยุ่นอีกด้วย

บูธประชาสัมพันธ์แอพสะกิด ที่การไฟฟ้านครหลวง เขตยานนาวา
กิจกรรม “Healthy Workshop”
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 Sakid ได้ออกบูธประชาสัมพันธ์แอพสะกิดให้กับการไฟฟ้านครหลวง เขตยานนาวา ในกิจกรรม Fun for Fit เพื่อแนะนำการเข้าร่วมโครงการ “MEA เบิร์นเกินร้อย” เปิดศึกการแข่งกันระหว่างทีมเพิ่มการเผาผลาญแคลอรี ด้วยการส่งภารกิจสุขภาพผ่านแอพสะกิด ภายในงานได้รับความสนใจจากพนักงานเป็นจำนวนมาก

Employee Assistance Program ยุคใหม่ช่วยอะไรคุณได้บ้าง
Employee Assistance Program คือเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่วนรายล้อมตัวพนักงาน ช่วยทำให้ปัญหาต่าง ๆ ของเขาดีขึ้น แต่ดียังไง มาดูกัน

กิจกรรม 5ส คืออะไร (เข้าใจง่ายๆ ใน 5 นาที)
กิจกรรม 5ส คือเครื่องมือชั้นเยี่ยมในการจัดระเบียบและทำให้สามารถใช้พื้นที่ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่แท้จริงนั้นกิจกรรม 5ส คืออะไร มาหาคำตอบไปด้วยกัน

WORKSHOP ONLINE HIIT ทำน้อยได้มาก
กิจกรรม “HIIT ทำน้อยได้มาก” ฉบับคนไม่มีเวลา
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 SAKID ได้จัดกิจกรรม Workshop “HIIT ทำน้อยได้มาก” ให้กับบริษัทเอสพี อินเตอร์แมค โดยผู้เข้าร่วม Workshop Online จะได้รู้เรื่องการใช้พลังงานของร่างกายส่วนต่างๆ และท่าออกกำลังกายที่ทำได้ โดยไม่ต้องใช้เวลาเยอะในการออกกำลังกาย

Happy Workplace สร้างองค์กรอย่างไรให้เต็มไปด้วยความสุข
ชวนมาแก้ปัญหาพนักงานเบิร์นเอาต์ด้วย ‘องค์กรแห่งความสุข’ หรือ Happy Workplace ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่าเมื่อองค์กรมีสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนทำงานมีความสุข