Healthy Green Canteen โรงอาหารปลอดภัย อร่อย สะอาด สุขภาพดี
- 07/07/23
โรงอาหารเหมือนกับอู่ข้าวอู่น้ำของพนักงานหลายชีวิต ที่เป็นสวัสดิการจากบริษัทให้กับพนักงานในการอำนวยความสะดวกและช่วยลดค่าครองชีพ โดยในโรงอาหารจะมีทั้งอาหารคาว-หวาน เครื่องดื่ม และขนมอื่น ๆ ที่อาจมีพนักงานหมุนเวียนมาใช้บริการตลอดทั้งวัน ด้วยเหตุนี้โรงอาหารก็อาจส่งผลต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหารของพนักงานได้ และการมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดีอาจเป็นปัจจัยหลักของการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคตได้ (1)
ความสำคัญและความจำเป็นของการมีโรงอาหารที่ดีในสถานที่ทำงาน
การมีโรงอาหารที่ดีในสถานที่ทำงานทั้งในแง่ของความสะอาดถูกสุขอนามัยและดีต่อสุขภาพจะเป็นผลดีทั้งแก่นายจ้างและพนักงาน
โรงอาหารเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งให้พนักงานช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และช่วยอำนวยความสะดวกในกรณีที่สถานที่ทำงานอยู่ห่างไกลจากสถานที่จำหน่ายอาหาร
นอกจากนี้นายจ้างยังสามารถสร้างขวัญและกำลังใจที่ดีให้แก่พนักงาน แสดงความเอาใจใส่ที่นายจ้างมีแก่พนักงานผ่านการรักษามาตรฐานของโรงอาหารที่ดีในสถานที่ทำงาน นอกจากนี้การจัดตั้งโรงอาหาร สถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหารในอาคารหรือพื้นที่ใดที่มีพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตรมีความจำเป็นต้องขอใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเพื่อขอใบรับรองในการจัดตั้ง2 นอกจากการได้รับใบรับรองแล้วควรมีการควบคุมมาตรฐานให้ถูกต้องตามบัญญัติของกฎกระทรวง ตามเกณฑ์มาตรฐานโรงอาหารคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย (GREEN Canteen)
Healthy GREEN Canteen ไม่ยาก เป็นไปได้
ตามที่กล่าวมาแล้วว่า โรงอาหารไม่ได้เป็นเพียงโรงอาหารอย่างเดียว ยังสามารถส่งผลต่อบริษัท และพนักงานในหลายด้าน คงอยากทราบแล้วว่าการจัดโรงอาหารสุขภาพ มีแนวทางอย่างไรบ้าง ซึ่งภาครัฐก็มีเกณฑ์มาตรฐานโรงอาหารคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย (GREEN canteen) เป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับโรงอาหารต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสุขภาพของพนักงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (2,3,4) โดยมีแนวทางดังนี้
1. Garbage มาตรฐานเรื่องการจัดการขยะ ในสถานที่ปรุงประกอบอาหารและภายในโรงอาหารควรมีถังรองรับขยะ ที่มีฝาปิดสนิทไม่รั่วซึม และไม่มีคราบสกปรกโดยรอบ ควรมีการแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะอื่น เพื่อให้สะดวกแก่การแยกทิ้ง ทำลาย เพื่อไม่ให้เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
2.Restroom มาตรฐานเรื่องการจัดการเกี่ยวกับห้องน้ำ ควรมีห้องน้ำเป็นสัดส่วนแยกจากส่วนการเตรียมปรุงประกอบ จัดเก็บอาหารและอุปกรณ์ ห้องน้ำสะอาดไม่มีกลิ่นและน้ำขัง มีจำนวนห้องน้ำและอ่างล้างมือเพียงพอ พร้อมใช้งาน สบู่สำหรับการล้างมือ
3.Energy มาตรฐานเรื่องการจัดการพลังงานภายในโรงอาหาร โรงอาหารมีแสงสว่างเพียงพอและควรมีที่ครอบหลอดไฟทั้งส่วน เตรียม ปรุงประกอบและส่วนรับประทานอาหารของผู้ใช้บริการ ห้ามใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงบนโต๊ะหรือบริเวณที่รับประทานอาหาร รวมถึงต้องมีมาตรการและอุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับการป้องกันอัคคีภัยจากเชื้อเพลิงในการทำอาหารตามกฎหมายควบคุมอาคาร
4.Environment มาตรฐานเรื่องสถานที่จำหน่ายอาหาร ตั้งแต่การเตรียม ปรุงประกอบ จัดจำหน่าย จัดเก็บวัตถุดิบและจัดเก็บภาชนะและอุปกรณ์ รวมถึงสถานที่รับประทานอาหารให้แก่ผู้รับบริการ ให้มีความปลอดภัยต่อผู้ทำงานและผู้ใช้บริการ
5.Nutrition มาตรฐานเรื่องสุขาภิบาลและโภชนาการ เกี่ยวกับสุขลักษณะของสถานที่จัดเตรียม ปรุงประกอบ จัดจำหน่าย จัดเก็บวัตถุดิบและจัดเก็บภาชนะและอุปกรณ์ รวมถึงผู้สัมผัสอาหารให้ถูกต้องตามมาตรฐาน และมีการจัดเมนูเพื่อสุขภาพ เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการ
Healthy GREEN Canteen เมื่อเข้าใจแล้วเริ่มลงมือทำได้เลย
แนวทางการจัดตั้ง Healthy GREEN canteen จะสำเร็จได้นั้น ควรได้รับความร่วมมือจากเจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการและพนักงาน ควรมีการทำความเข้าใจและสำรวจความต้องการในทุกมิติ รวมถึงการให้ความตระหนักรู้และความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ และพนักงาน
ผู้บริหารควรจัดตั้งทีมงานควบคุมดูแล และสนับสนุนการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้โรงอาหารเป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงกำหนดนโยบายการดูแลสุขภาพพนักงาน
ผู้ประกอบการควรให้ความร่วมมือและรักษาสุขลักษณะตั้งแต่การเตรียม ปรุงประกอบ จำหน่าย จัดเก็บอาหาร วัตถุดิบและภาชนะอุปกรณ์ และผู้สัมผัสอาหาร ให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหาร ตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 (2) รวมทั้งมีเมนูสุขภาพ
พนักงานควรมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการดูแลสุขภาพ และมีส่วนร่วมในการประเมินผู้ประกอบการเพื่อแสดงถึงความต้องการในแง่การรับบริการและการเข้าถึงข้อมูล5
ถ้าอยากทราบว่าองค์กรมีความพร้อมในการทำ Healthy Green Canteen มากน้อยเพียงใด ลองประเมินจาก Checklist ได้เลย ว่าได้กี่ข้อกันนะ แล้วมีข้อไหนบ้างที่ต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม รวมทั้งยังได้รวมตัวอย่างนโยบายด้านโภชนาการมาไว้ให้ด้วย เพื่อสามารถนำไปทำได้เลย
Healthy GREEN Canteen Checklist (3)
-โรงอาหารผ่านเกณฑ์ด้านสุขาภิบาลอาหาร ตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 (2)
-โรงอาหารมีเมนูที่ดีต่อสุขภาพอย่างน้อยวันละ 1-2 เมนูต่อร้าน
-โรงอาหารในแต่ละร้านควรมีเมนูผักเป็นส่วนประกอบหลักทุกวัน และมีร้านผลไม้สดอย่างน้อย 1 ร้าน
-แต่ละร้านมีข้อความ “หวานน้อย มันน้อยสั่งได้ เค็มน้อยสั่งได้”
-ลดขนาดช้อนเครื่องปรุง หรือไม่จัดวางเครื่องปรุงไว้หน้าร้าน
-โรงอาหารมีสื่อให้ความรู้เรื่องอาหารและโภชนาการ
ตัวอย่างนโยบายด้านโภชนาการใน Healthy GREEN Canteen
-จัดบริการผักสด/ผักสุก ฟรีให้แก่พนักงาน เพื่อเพิ่มการรับประทานผัก
-ลดขนาด และจุดบริการเครื่องปรุง เพื่อลดการปรุงรสเพิ่ม
-เพิ่มเมนูดีต่อสุขภาพในราคาที่ถูกลง หรือมีการจับคู่เมนูจานอาหารเพื่อสุขภาพ 2:1:1
-เพิ่มจุดบริการน้ำดื่ม เพื่อเพิ่มการดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มที่มีรสหวาน
-เพิ่มทางเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพโดยการเพิ่มทางเลือก และเพิ่มการมองเห็นจากการจัดเรียงสินค้า
-เพิ่มสื่อการให้ความรู้ด้านโภชนาการ ให้อยู่ในจุดที่เข้าถึงได้อย่างเหมาะสม
Healthy Canteen จัดอย่างไรให้ถูกใจพนักงาน
นอกจากการออกแบบโรงอาหารจะสามารถจัดให้ดีต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าควรจัดให้ถูกใจพนักงานด้วย ซึ่งเป็นผู้รับบริการหลัก มาดูกันว่า บริษัทชั้นนำระดับโลก มีการจัดสวัสดิการโรงอาหารให้อย่างไรบ้าง
Google, Dropbox และ Pixar บริษัทระดับโลก ต่างก็มีการจัดอาหารให้พนักงานทาน โดยบาร์อาหารมีอาหารหลากหลาย เต็มไปด้วยอาหารนานาชาติ ที่ทำและเสิร์ฟโดยเชฟฝีมือดี ทั้งอาหารเรียกน้ำย่อย อาหารจานหลัก และของหวาน นอกจากนี้ยังมีน้ำผลไม้ และผลไม้ไว้เป็นทางเลือกสุขภาพด้วย (6)
หรือ Apple ซึ่งเป็นบริษัทชื่อดัง นอกจากจะเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีคนอยากร่วมงานมากที่สุดในโลกแล้ว ยังมีโรงอาหาร Caffè Macs ที่น่าเข้าไปใช้ เพราะนอกจากจะมีการเสิร์ฟอาหารนานาชาติ ที่หลากหลายแล้วทั้ง เม็กซิกัน อิตาเลี่ยน ญี่ปุ่น สเปน ฝรั่งเศส ยังมีการออกแบบโรงอาหารได้เรียบหรูจนดูเป็นภัตตาคาร ทำให้ยิ่งน่าเข้าไปใช้บริการ
จาก U.S Today polled ในปี ค.ศ. 2015 สำรวจพนักงาน 1,000 คน สอบถามถึงความสุขในการทำงานพบถึง 56% ที่ตอบว่ามีความสุขมาก และมีความสุขสูงขึ้นเป็น 67% ในบริษัทที่มีการบริการอาหารให้7
ดังนั้นการออกแบบโรงอาหารยังต้องคำนึงถึงสไตล์การออกแบบโรงอาหาร ทั้งรูปแบบการจัดร้านอาหาร หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์โต๊ะ เก้าอี้ที่เป็นส่วนประกอบ เพื่อให้มีความน่าใช้งาน รวมทั้งออกแบบเมนูอาหารให้มีความหลากหลาย หากสามารถมีสวัสดิการโรงอาหาร ไม่ว่าจะเป็นบริการฟรี หรือกำหนดให้ร้านค้าขายอาหารในราคาไม่แพง โดยทางบริษัทอาจลดค่าเช่าร้านอาหาร รับรองว่าจะเป็นโรงอาหารที่พนักงานถูกใจอย่างแน่นอน
สรุป
เรื่องของโรงอาหารใครว่าเล็ก ๆ ยังมีหลายด้านที่ต้องคำนึงถึง ทั้งความสะอาด และเมนูอาหาร ที่จะส่งผลต่อสุขภาพที่ดีของพนักงาน และรวมทั้งการออกแบบโรงอาหารให้พนักงานอยากเข้ามาใช้งาน ทำให้พนักงานมีความพึงพอใจ ที่สำคัญหากบริษัททำให้เป็น Healthy Canteen ได้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้องค์กรมีโอกาสได้รับรางวัล Healthy Organization และถ้ายังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร สามารถปรึกษา Sakid ได้เลย เพราะเรามีบริการโรงอาหารเพื่อสุขภาพ
อ้างอิง
1. García-García, F. J., Monistrol-Mula, A., Cardellach, F., & Garrabou, G. (2020). Nutrition, Bioenergetics, and Metabolic Syndrome. Nutrients, 12(9), 2785. https://doi.org/10.3390/nu12092785
2.สำนักงานสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรงสาธารณสุข. (2561). คู่มือการดำเนินงานสุขาภิบาลอาหาร “สถานที่จำหน่ายอาหาร” ตามบทบัญญัติของกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561
3.ศูนย์สื่อสารสาธารณะ. (2 ธันวาคม 2562). กรมอนามัย เปิดตัว ‘Healthy Canteen’ สร้าง ต้นแบบมาตรฐานอาหาร 3 ไซส์ S M L. สำนักสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. https://foodsan.anamai.moph.go.th/th/handbook/2360#wow-book/
4.สำนักงานสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรงสาธารณสุข. (2564). เกณฑ์มาตรฐานโรงอาหารคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย (GREEN canteen). https://foodsan.anamai.moph.go.th/th/green-canteen/204474
5.Price, Sarah & Bray, Jeff & Brown, Lorraine. (2017). Enabling healthy food choices in the workplace: The Canteen operators’ perspective. International Journal of Workplace Health Management. 10. 00-00. 10.1108/IJWHM-12-2016-0087.
6.Jessica Haworth. (4 March 2016). Inside Google and Apple’s staff canteens – with luxury gourmet food to make your mouth water. Mirror. https://www.mirror.co.uk/news/weird-news/inside-google-apples-staff-canteens-7496347
7.Hadley Malcolm. (16 September 2015). Study: The key to happiness at work is free snacks. USA TODAY. https://www.usatoday.com/story/money/2015/09/16/study-says-snacks-affect-happiness-at-work/72259746/
บทความที่น่าสนใจ
WORKSHOP Happy Heart
กิจกรรม “กินอยู่อย่างไร ให้ห่างไกลโรคหัวใจ”
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 SAKID ได้จัดกิจกรรม Workshop Online “กินอยู่อย่างไร ให้ห่างไกลโรคหัวใจ” ให้กับบริษัทTACC โดยนักกำหนดอาหารจะพาสำรวจตัวเองและความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหัวใจ และการปรับพฤติกรรมการเลือกอาหารให้สอดคล้องกับโรคหัวใจ
Happinometer เครื่องมือวัดความสุขได้ง่าย ๆ ด้วยตัวคุณเอง
หลายต่อหลายครั้งที่เราทำงานไปเรื่อย ๆ แล้วเกิดความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว ชวนมาทำแบบประเมินวัดความสุขกับ Happinometer กัน โดยแบบประเมินนี้เหมาะกับคนทำงาน
Well-being ไม่ใช่แค่ดูแลพนักงาน แต่ขอรับรองมาตรฐานได้ด้วย
ในปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ให้ความสำคัญการดูแลด้าน Well-being หรือสุขภาวะที่ดีของพนักงาน เพราะเล็งเห็นว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร ในการดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปตามเป้าหมายขององค์กร หากพนักงานมีความสุขก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน และมีความผูกพันต่อองค์กร แต่ทราบหรือไม่ว่านอกจากนี้ยังสามารถขอรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องได้หลายมาตรฐาน ซึ่งทำให้มั่นใจว่ากิจกรรมด้าน Well-being ที่จัดให้พนักงานมีความครบถ้วนหรือไม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด และหากองค์กรได้รับรางวัลมาตรฐานเหล่านี้ ยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่องค์กร สร้างภาพลักษณ์ต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งพนักงาน ลูกค้า และบุคคลภายนอกในการเป็นองค์ที่มีความใส่ใจพนักงาน
WORKSHOP กินอยู่อย่างไร ห่างไกล NCDs
กิจกรรม กินอยู่อย่างไร ห่างไกล NCDs
วันที่ 26 สิงหาคม 2567 SAKID ได้จัดกิจกรรม กินอยู่อย่างไรห่างไกลโรคNCDs กับ SAKID ที่บริษัท ทาทาสตีล (การผลิต) จ.สระบุรี โดยจะมีกิจกรรมวัดองค์ประกอบร่างกาย และWorkshop เกี่ยวกับการเลือกอาหารในชีวิตประจำวันโดยจะเน้นไปที่การลดน้ำหนักและไขมันในเลือด ให้พนักงานได้นำไปใช้ได้จริง การอ่านฉลากแบบง่ายๆ การเลือกกินอาหารแบบ 2-1-1 เน้นโปรตีนและผัก การเลือกกินคาร์โบไฮเดรตในสัดส่วนที่ถูกต้อง เพื่อรักษาการกินที่สมดุลให้เหมาะกับสภาวะร่างกายของแต่คนให้ถูกต้อง
ลดน้ำหนัก แต่ไม่อยากอดอาหาร หรือออกกำลังกาย ฉบับองค์กร
ในยุคที่การทำงานหนักและการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบเป็นเรื่องปกติ ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนกลายเป็นปัญหาสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานที่มักมีเวลาน้อยในการดูแลสุขภาพตัวเอง ซึ่งภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง เป็นต้น นอกจากนี้เรายังพบความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนและโรคมะเร็งบางชนิดอีกด้วย ถึงเวลาแล้วหรือยังคะที่เราจะเริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อการลดน้ำหนักและดูแลสุขภาพกันเพิ่มมากขึ้น
WORKSHOP เริ่มต้นสุขภาพดี กับ SAKID
กิจกรรม Workshop “คลาสโยคะ”
ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 – 21 กันยายน 2566 SAKID ได้จัดกิจกรรม Workshop “คลาสโยคะ ” กันทุกสัปดาห์เป็นสวัสดิการที่เสริมสร้างร่างกายให้แข้งแรง โดยนักวิทยาศาสตร์การกีฬามาเป็นครูสอนโยคะที่จะพาพนักงานบริษัท ROCHE มายืดเหยียดร่างกายให้ผ่อนคลายเมื่อยจากการนั่งทำงานและเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้มีความยืดหยุ่นอีกด้วย