
รวม 5 หลักการปรับ “ท่านั่งทํางานที่ถูกต้อง” ลดออฟฟิศซินโดรม
- 24/01/23
ปัจจัยหลักที่ทำให้คนทำงานมีอาการออฟฟิศซินโดรม คงหนีไม่พ้น การนั่งทำงานที่ยาวนานและส่วนใหญ่คนที่มีปัญหานี้ มักจะนั่งทำงานในท่าที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาออฟฟิศซินโดรม ปวดหลัง ปวดคอ ปวดบ่า ทำให้รู้สึกไม่สดชื่นและ Productivity ในการทำงานยังลดลงอีกด้วย รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจิตของคนทำงานที่ตามมาจากโรคนี้อีกมากมาย
ดูจากผลกระทบแล้ว ถือว่าปัญหาออฟฟิศซินโดรมไม่ใช่ปัญหาที่ควรมองข้าม บทความนี้จึงอยากมาชวนแก้ปัญหากันที่ต้นเหตุด้วยการปรับการนั่งทำงานเป็น “ท่านั่งทำงานที่ถูก” มี 5 หลักการที่ควรทำ ดังนี้
5 หลักการปรับท่านั่งทำงานที่ถูกต้อง แก้ปวดหลัง ออฟฟิศซินโดรม
ขอบคุณภาพจาก healthdirect
1. ศีรษะตั้งตรง ไม่ยื่นไปข้างหน้า ไม่ก้มหรือเงย
2. หลังพิงพนักและตั้งตรง ไม่โน้มไปข้างหน้าหรือแอ่นไปข้างหลัง
3. แขนและมือวางระนาบไปกับที่พักแขนหรือโต๊ะ
4. นั่งบนเก้าอี้เต็มก้น ทิ้งเท้าลงราบกับพื้น
5. เข่าทำมุม 90 – 100 องศา ให้ข้อพับห่างจากขอบเก้าอี้เล็กน้อย
1. ศีรษะตั้งตรง ไม่ยื่นไปข้างหน้า ไม่ก้มหรือเงย
ท่านั่งทำงานที่ถูกต้อง คือ นั่งให้ศีรษะตั้งตรงกับลำคอ ไม่ก้มหรือเงยหน้า และตั้งหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปให้อยู่เดียวกับระดับสายตา เพื่อป้องกันไม่ให้เราเผลอก้มจ้องหน้าจอ
การที่เราก้ม ยื่น หรือเงยคอเป็นเวลานาน จะทำให้กล้ามเนื้อคอและกระดูกสันหลังรับน้ำหนักของศีรษะมากกว่าปกติ โดยจากงานวิจัยแล้ว ปกติที่ศีรษะคนเราจะมีน้ำหนักอยู่ราว 4 – 5 กิโลกรัม (ประมาณ 11 ปอนด์) ในทุก ๆ 15 องศาที่ศีรษะก้มลง น้ำหนักของศีรษะจะตกลงมาตามแนวกระดูกสันหลังหรือก้าวกระโดด จาก 10 – 12 ปอนด์ เป็น 27 ปอนด์, 40 ปอนด์, 49 ปอนด์, 60 ปอนด์ ตามลำดับ ส่งผลให้กระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อคอรับน้ำหนักมาก ทำให้ปวดคอ ปวดหลังบน และอาจทำให้กระดูกคอเสื่อม
ขอบคุณภาพจาก washingtonpost.com
2. หลังพิงพนัก ตั้งตรง ไม่โน้มไปข้างหน้าหรือแอ่นไปข้างหลัง
หลักการนั่งที่ถูกต้องข้อต่อมา คือ นั่งให้หลังพิงชิดกับพนักพิง ตั้งตรง ไม่โน้มไปข้างหน้าหรือนั่งหลังค่อม ดังนั้น จึงควรเลือกเก้าอี้ทำงานที่มีพนักพิงเพื่อรองรับให้หลังตั้งตรง
การที่เรานั่งทำงานโดยหลังตั้งตรง จะช่วยให้กระดูกสันหลังไม่ต้องแบกรับน้ำหนักในท่าที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน หากนั่งทำงานแล้วรู้สึกว่าหลังไม่ชนพนัก ไม่มีอะไรรองรับแผ่นหลัง ให้หาเบาะหรือหมอนมาหนุนปรับให้หลังของเราตั้งตรงเป็นปกติให้มากที่สุด
3. แขนและมือวางระนาบไปกับที่พักแขนและโต๊ะ ไหล่ไม่ยก
หนึ่งในอาการสำคัญของโรคออฟฟิศซินโดรม คือ อาการปวดคอ บ่า ไหล ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มาจากการที่ไหล่ยกเป็นเวลานาน ซึ่งมาจากท่านั่งทำงานที่ไม่ถูกต้อง
ท่านั่งทำงานที่ถูกต้องนั้น แขนและมือของเราควรจะสามารถทิ้งน้ำหนักวางระนาบไปกับที่พักแขนและโต๊ะ รวมไปถึง ข้อมืออยู่ในระนาบเดียวกับแป้นพิมพ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เรายกข้อมือขึ้นพิมพ์จนเกร็ง ยกหัวไหล่ขึ้นเพื่อยกแขนขึ้นจับเมาส์หรือพิมพ์ ซึ่งอาจเกิดให้เกิดการเกร็งตึงกล้ามเนื้อโดยไม่รู้ตัว หากเกร็งเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้ รั้งกล้ามเนื้อคอและอาจลุกลามจนปวดศีรษะหรือกระตุ้นไมเกรน
4. นั่งบนเก้าอี้เต็มก้น ทิ้งเท้าลงราบกับพื้น
ควรนั่งทำงานโดยให้นั่งเต็มก้นเพื่อให้น้ำหนักของศีรษะ แผ่นหลัง และกระดูกสันหลังถ่ายเทลงมาที่ก้นและสะโพกทั้งสองข้างเท่า ๆ กัน และทิ้งเท้าลงราบกับพื้น ไม่ลอย หากเท้าลอยจากพื้น ให้หาที่วางเท้ามาเสริมอาจจะเป็นกล่องหรือเก้าอี้นั่งพื้นก็ได้
สำหรับคนที่ติดนิสัยนั่งทำงานเพียงครึ่งก้นหรือนั่งไม่เต็มก้น น้ำหนักช่วงลำตัวจะกดทับลงมาที่กระดูกก้นกบไม่สม่ำเสมอ ก้นและสะโพกรับน้ำหนักไม่เท่ากัน อาจเกิดอาการปวดปุ่มกระดูกหรือร้าวชาลงขาได้ รวมไปถึง การนั่งไม่เต็มก้นทำให้ท่านั่งผิดไปหมด ตั้งแต่หลังไม่ตรง คอตั้งไม่ตรง ส่งผลให้เกิดออฟฟิศซินโดรม ส่วนการที่นั่งเท้าลอยจากพื้น น้ำหนักจะกดทับลงบริเวณเบาะส่วนหน้าและต้นขาด้านใน เมื่อนั่งเป็นเวลานาน น้ำหนักที่ทิ้งลงมาจะกดทับเส้นเลือดใหญ่ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงขาได้ไม่ดี ตามมาซึ่งอาการชาและปวดเมื่อย
5. เข่าทำมุม 90 – 100 องศา ให้ข้อพับห่างจากขอบเก้าอี้เล็กน้อย
หลักการนั่งที่ถูกต้องเวลาทำงาน นอกจากเท้าควรจะวางราบกับพื้นได้แล้ว เข่าควรจะทำมุมทิ้งตัวกับพื้น 90 – 100 องศา ไม่งอหรือพับเข่าไปด้านหลัง และข้อพับหลังเข่าควรจะห่างจะขอบเก้าอี้เล็กน้อย ไม่กดทับข้อเข่า เพื่อให้เลือดไหลเวียนสะดวก
การเลือกเก้าอี้และโต๊ะทำงาน
จากหลักการปรับท่านั่งทำงานที่ถูกต้อง มีหลายข้อที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นั่งได้อย่างถูกต้อง คือ เก้าอี้และโต๊ะที่เหมาะสมกับท่าทางและส่งเสริมท่านั่งที่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ (Ergonimics)
ขอบคุณภาพจาก nytimes.com
ต่อไปนี้ คือ คำแนะนำเพิ่มเติมในการเลือกเก้าอี้และโต๊ะเพื่อส่งเสริมท่านั่งทำงานที่ถูกต้องของเรา
– ความสูงเก้าอี้ ควรมีความสูงเท่ากับช่วงความยาวของขาท่อนล่าง นั่งแล้วสามารถวางเท้าได้ราบพอดีกับพื้น แนะนำให้เลือกซื้อเก้าอี้ที่สามารถปรับระดับความสูงได้ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานของแต่ละคน
– เบาะไม่นุ่มเกินไปหรือเป็นแอ่ง ควรเลือกเบาะเก้าอี้ที่มีความแน่นและนุ่มที่พอเหมาะ นั่งแล้วไม่ยวบลงไป เบาะที่ดีจะช่วยกระจายน้ำหนักจากลำตัวไปทั่วทั้งเบาะ ทำให้นั่งสบาย ก้น สะโพก และกระดูกเชิงกรานไม่ถูกกดทับหรือรับน้ำหนักมากเกินไป
– ความลึกของเบาะต้องไม่มากกว่าช่วงต้นขา เพื่อให้นั่งทำงานได้อย่างสบาย สามารถทิ้งเท้าวางกับพื้นและงอเข่าทิ้งตัวลงได้
– พนักพิงพอดีกับแผ่นหลัง ควรนั่งให้ก้นชิดกับพนักพิงมากที่สุด เพราะหากนั่งเว้นระยะห่างกับพนักพิงมากเกินไป จะทำให้โน้มตัวหรือแอ่นหลังระหว่างทำงานโดยไม่รู้ตัว
– ระดับที่วางแขนต้องพอดี สามารถงอข้อศอกแล้ววางแขนได้พอดี รวมถึงช่วยในการค้ำพยุงเวลาลุกนั่งได้
– ปรับระดับได้ เก้าอี้ทำงานที่ดีควรจะต้องปรับระดับได้หลากหลาย ทั้งความสูง ความต่ำของเบาะ ความสูงของที่พักแขน การเอนไปด้านหลัง เพื่อปรับเก้าอี้ให้นั่งได้สบายสำหรับแต่ละคน
– โต๊ะไม่สูงหรือต่ำเกินไป ให้พอดีที่เราสามารถวางแขนราบไปกับโต๊ะได้โดยที่ไหล่ไม่ยก รวมไปถึง การวางหน้าจอให้ได้ระดับพอดีกับการมอง
นอกจากนี้ โต๊ะยืนทำงานเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการสลับกับการนั่งทำงาน เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถเดิม ๆ ในการทำงาน เพื่อช่วยลดโอกาสเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม ช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดี และยังช่วยเผาผลาญแคลอรี่ได้อีกด้วย
อย่าลืมหยุดพักและบริหารร่างกายระหว่างทำงาน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะปรับท่านั่งทำงานได้ถูกต้องแล้ว การนั่งท่าเดิมนาน ๆ ก็ทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้อยู่ดี เราควรหยุดพักเบรกให้เป็นนิสัยเพื่อทำสิ่งเหล่านี้
– หยุดพักระหว่างทำงานบ้างเพื่อคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ ทุก ๆ 25 นาที
– ลุกขึ้นเดินบ่อย ๆ หรือลุกไปดื่มน้ำให้เป็นนิสัย
– บริหารร่างกายระหว่างทำงานบ้าง เช่น บริหารคอ หมุนหัวไหล่ ยกขา ดัดนิ้วมือ ยืดเหยียดกับโต๊ะหรือเก้าอี้ เพื่อให้เลือดไหวเวียนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และให้กล้ามเนื้อที่เกร็งตึงอยู่ ได้ยืดและผ่อนคลายลง
สรุป
เรื่องของออฟฟิศซินโดรมไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ ที่จะมองข้ามได้ ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่จะจัดการกับโรคนี้ คือ การปรับท่านั่งทำงานของเราให้ถูกต้อง รวมไปถึงการเลือกใช้เก้าอี้และโต๊ะที่ได้ความสูงและสามารถปรับระดับส่วนต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสรีระของผู้ใช้งาน
บริษัทของคุณก็สามารถส่งเสริมให้พนักงานมีท่านั่งที่ถูกต้องได้ด้วยการให้ความรู้ การเลือกซื้อเก้าอี้ทำงาน โต๊ะทำงานที่ถูกหลักการยศาสตร์หรือ ergonomics รวมไปถึง ส่งเสริมให้พนักงานมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ ลุกขึ้นนั่ง เดิน มีกิจกรรมบริหารร่างกายต่าง ๆ
องค์กรหรือบริษัทของคุณสามารถเริ่มต้นส่งเสริมสุขภาพพนักงานได้ง่าย ๆ ด้วยแอปฯ SAKID ที่สามารถสะกิดพนักงานให้ ลุกขึ้นขยับร่างกาย ระหว่างวันได้ ด้วยเทคนิคการสะกิดให้เกิดพฤติกรรม (Nudge Theory) เพื่อลดโอกาสเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมได้ รวมไปถึงส่งเสริมสุขภาวะแบบครบองค์ให้กับพวกเขา
อ่านรายละเอียดฟีเจอร์ต่าง ๆ ของ SAKID ที่นี่
บทความที่น่าสนใจ

WORKSHOP คิมบับสุขภาพ
กิจกรรม “Cooking class คิมบับสุขภาพ”
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 SAKID ได้จัดกิจกรรม Workshop “Cooking class คิมบับสุขภาพ” โดยคุณอรนันท์ เสถียรสถิตกุล นักกำหนดอาหารวิชาชีพ และอดีตเจ้าของ D-Diet อาหารสุขภาพสาธิตเมนูอาหารสไตล์เกาหลี “คิมบับ”พร้อมได้เรียนรู้ส่วนประกอบการทำคิมับทางด้านประโยชน์และสารอาหาร รวมทั้งลงมือลองทำคิมบับเมนูสุขภาพด้วยตัวเอง

[เคล็ดลับ] สร้าง Smart Office ที่ดีเพื่อองค์กรของคุณ
ในยุคหลังโควิด เกิดการปรับตัวขององค์กรมากมาย หนึ่งในนั้นคือการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็น Smart Office ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนทำงานมากขึ้น แนะนำเคล็ดลับ

WORKSHOP Healthy Canteen
กิจกรรม “อบรม พ่อครัว แม่ครัว ให้ทำอาหารสุขภาพมากขึ้น”
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 SAKID ได้จัดกิจกรรม Workshop “อบรม พ่อครัว แม่ครัว ให้ทำอาหารสุขภาพมากขึ้น”

55 กับเงินใช้หลังเกษียณ สำหรับพนักงานบริษัท
มีใครเคยดูซีรีส์ไทยเรื่องแรกที่เผยแพร่ทาง Disney+ Hotstar อย่าง 55:15 Never Too Late กำลังเข้มข้นเลยนะครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของเพื่อนชาย-หญิง 5 คน ในวัย 55 ปี ที่ถูกย้อนเวลาไปเติมเต็มความฝันในวัย 15 ปี สำหรับการวางแผนการเงินนั้น อายุ 55 ปี ก็ถือเป็นหมุดหมายสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นวัยที่หลายคนวาดฝันว่าจะเกษียณจากการทำงาน โดยจะมีสิทธิได้รับเงินจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อใช้หลังเกษียณ ซึ่งหากปฏิบัติถูกเงื่อนไข ก็จะได้รับยกเว้นภาษีอีกด้วย ตามผมไปดูกันเลยครับว่ามีอะไรบ้าง…

Mental Health สุขภาพจิตและความสุขในที่ทำงาน
ในยุคปัจจุบัน สุขภาพจิต หรือ Mental Health กลายเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในทุกวงการ โดยเฉพาะในองค์กรที่ต้องการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริมทั้งประสิทธิภาพและความสุขของพนักงาน การใส่ใจสุขภาพจิตในที่ทำงานไม่เพียงช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ แต่ยังช่วยลดปัญหาอัตราการลาออกและการขาดงานอีกด้วย

ตรวจสุขภาพประจำปี พนักงาน สร้างกิจกรรม
ตรวจสุขภาพประจำปี สวัสดิการพนักงานบริษัทที่ทำการตรวจกันทุกปี แล้วพนักงานก็จะได้ผลตรวจสุขภาพรายบุคคนกันไป บางคนผลออกมาปกติดี บางคนก็ประสบปัญหาสุขภาพตามอายุและพฤติกรรมแบบกลุ่มกัน ไม่ว่าจะทางร่างกายและทางจิตใจ ซึ่งพนักงานแต่ละคนก็จะมีวิธีการดูแลตัวเองต่างกันไป ถ้าในบริษัทเจอปัญหาสุขภาพของพนักงานหลายคน หรือเจอปัญหาเสี่ยงโรคสุขภาพแบบกลุ่ม ทำให้มีการ ลาป่วย งานนี้จึงมาตกอยู่ที่ HR ที่จะต้องมาดูแลพนักงานหลายสิบหรือร้อยคน เพื่อให้บริษัทได้มีพนักงานที่สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง การมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสามารถช่วยให้ความรู้แบบกลุ่ม ซึ่งสามารถประหยัดเวลา และ ให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจการดูแลตัวเองเพิ่มขึ้น